10 พฤศจิกายน 2559

พระราชวังจันทน์



          พระราชวังจันทร์ ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองพิษณุโลก บนฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระราชวังเมืองพิษณุโลกที่เคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชสมภพที่พระราชวังแห่งนี้

          ทางด้านทิศใต้มีวัดวิหารทอง และวัดศรีสุคต ซึ่งน่าจะเป็นวัดประจำพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ เป็นวัดประจำพระราชวังกรุงศรีอยุธยา

          เมืองพิษณุโลก เป็นเมืองที่ตั้งคร่อมสองฝั่งแม่น้ำน่านหรือเป็นลักษณะเมืองอกแตกที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง จากแนวกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือไปออกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ เป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ เมืองพิษณุโลกในทางประวัติศาสตร์มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นอีกสองชื่อ คือสองแควกับชัยนาท

          เมืองสองแคว เป็นชื่อดั้งเดิมที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยยุคต้น เพราะมีแม่น้ำไหลผ่านเมืองสองสายคือแม่น้ำน่านกับแม่น้ำน้อย เป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรสุโขทัย โดยเฉพาะในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ได้เสด็จมาประทับที่เมืองสองแควถึง 7 ปี(พ.ศ.1905-1912)

          เมืองชัยนาท ชื่อที่ปรากฏในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระ เมื่อพ.ศ.2060 และในหนังสือลิลิตยวนพ่าย แต่งขึ้นหลัง พ.ศ.2031 นอกจากนี้พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงสมเด็จพระนครินทราชาธิราช พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา(พ.ศ.1952-1967) ให้โอรสคือเจ้าสามพระยาไปครองเมืองชัยนาท ต่อมาเจ้าสามพระยาได้ครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (พ.ศ.1967-1991) 

          เมืองชัยนาทที่ระบุในเอกสารดังกล่าวข้างต้น ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ได้แสดงหลักฐานที่ชี้ให้เห็นจนเป็นที่ยอมรับว่า ชัยนาทเป็นชื่อหนึ่งของพิษณุโลก หาใช่เมืองชัยนาทในเขตจังหวัดชัยนาทปัจจุบัน 

          นายพิเศษ เจียจันทน์พงษ์ ได้กล่าวให้เหตุผลไว้ว่า เมืองพิษณุโลกฝั่งตะวันออกที่มีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง คือเมืองสองแคว เป็นเมืองที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยยุคต้นๆ โบราณสถานสำคัญที่กำหนดอายุในสมัยสุโขทัย ได้แก่ พระอัฏฐารศในพระวิหารเก้าห้อง ทางด้านทิศตะวันออกของพระปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดเจดีย์ยอดทอง ตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศตะวันออก 

          ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านคือเมืองชัยนาท ที่เจ้าสามพระยาได้สถาปนาขึ้นพร้อมกับพระราชวังจันทน์ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจทางการปกครอง นอกจากนี้ยังพบว่าโบราณสถานสำคัญฝั่งตะวันตก ได้แก่วัดวิ หารทอง วัดศรีสุคตและวัดโพธิ์ทอง ล้วนมีรูปแบบที่อยู่ในช่วงระยะเวลาที่ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น 

          ส่วนชื่อเมืองพิษณุโลกนั้นน่าจะเรียกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(พ.ศ.1991-2031) ภายหลังจากทรงลาผนวชเมื่อ พ.ศ.2008 และโปรดฯ ให้ก่อกำแพงเมือง เพื่อเชื่อมเมืองทั้งสองสมัยบนสองฝั่งแม่น้ำให้เป็นเมืองเดียวกัน 

          สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงวังจันทน์เมืองพิษณุโลก ในสาสน์สมเด็จลายพระหัตถ์ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2481 ว่า คำว่าวังจันทน์ น่าจะมาจากคำว่า ตำหนักจันทน์หรือเรือนจันทน์ ในสมัยโบราณเรือนที่อยู่อาศัยทำด้วยไม้ทั้งสิ้น แต่สำหรับเรือนของพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายที่ศักดิ์สูง เรือนจะสร้างด้วยไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอม คำว่าวังจันทน์ จึงน่าจะมาจากวังตำหนักจันทน์ 

          สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงครองเมืองพิษณุโลก เสด็จประทับที่วังจันทน์มาก่อน ต่อมาทรงสร้างวังสำหรับประทับเวลาที่เสด็จลงมากรุงศรีอยุธยา พระราชพงศาวดารเรียกวังที่สร้างใหม่ว่า วังใหม่ จนสมัยเมื่ออพยพผู้คนเมืองเหนือลงมากรุงศรีอยุธยา พวกชาวเมืองเหนือที่ตามเสด็จเรียกวังใหม่ว่า วังจันทน์ เหมือนวังที่เคยประทับที่เมืองพิษณุโลก วังจันทน์เมืองพิษณุโลกจึงเป็นต้นเค้าชื่อเรียกวังจันทน์เกษมของกรุงศรีอยุธยา 

          เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวังจันทน์พิษณุโลก ปรากฏหลักฐานในหนังสือจดหมายระยะทางไปพิษณุโลก พระนิพนธ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พ.ศ.2444 คราวเสด็จเมืองพิษณุโลก เกี่ยวกับการหล่อพระพุทธชินราชที่จะอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ทรงกล่าวถึงวังเมืองพิษณุโลกว่า 

          “..มีกำแพงสองชั้น ด้านทิศตะวันออกคงจะเป็นหน้าวัง ส่วนนอกกำแพงวังด้านทิศตะวันตกมีสระใหญ่ เรียกหนองสองห้อง และมีรับสั่งให้ขุนศรีเทพบาลทำแผนที่วัง...” 

          ในปี พ.ศ.2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ เพื่อทรงนมัสการพระพุทธชินราช และทรงหล่อพระพุทธชินราชจำลองที่เมืองพิษณุโลก มีพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับพระราชวังจันทน์ไว้ว่า 

          “มีกำแพงวังสองชั้น กำแพงวังชั้นนอกทรุดโทรมเหลือพ้นดินเล็กน้อย กำแพงวังชั้นในยังเหลือถึง 2 ศอกเศษ ในวังยังมีฐานซึ่งเข้าใจว่าเป็นพระที่นั่ง โดยยาว 22วา กว้าง 7วา มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เหมือนพระที่นั่งจันทรพิศาล เมืองลพบุรี ฝีมือจะเป็นครั้งกรุงเก่า”

ขุดแต่ง–อนุรักษ์–พัฒนา

          ภายหลังสงครามอะแซหวุ่นกี้ ในปี พ.ศ.2318 พระราชวังจันทน์คงถูกทิ้งร้างให้ทรุดโทรมและพัง ทลายลงตามลำดับ แต่ความสำคัญและความทรงจำของผู้คนเกี่ยวกับพระราชวังเมืองพิษณุโลกยังคงมีอยู่ตลอด 

          ในปี พ.ศ.2474 กระทรวงศึกษาธิการได้ย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมจากฝั่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มาตั้งในบริเวณพระราชวังจันทน์ กระทั่งในปี พ.ศ.2479 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพระราชวังจันทน์ และในปี พ.ศ.2537 ประกาศขอบเขตที่ดินโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาจำนวนพื้นที่ 128 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา 

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการบูรณะพระราชวังจันทน์ และย้ายโรงเรียนพิษณุโลกฯ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เงินงบประมาณที่อนุมัติ 403,034,900 บาท แบ่งเป็นงบประมาณในส่วนของกรมศิลปากรจำนวน 261 ล้านบาทเศษ และงบประมาณในส่วนของกรมสามัญศึกษาจำนวน 141 ล้านบาทเศษ 

          สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรพิษณุโลกจัดทำแผนแม่บทโครงการบูรณะพระราชวังจันทน์ และย้ายโรงเรียนพิษณุโลกฯ ในปี พ.ศ.2546 เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานอนุรักษ์พัฒนาพระราชวังจันทน์และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีแนวทางการดำเนินงานโยกย้ายบ้านเรือนราษฎร ที่ทำการราชการ สำรวจขุดค้นขุดแต่งโบราณคดี บูรณะโบราณสถาน ควบคุมการใช้ที่ดินในเขตพระราชวังและพื้นที่แวดล้อม ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์มีความกลมกลืนและสอดคล้องกับโบราณสถาน เป็นต้น 

          จากการขุดค้นโบราณคดีบริเวณพื้นที่โรงเรียนพิษณุโลกฯ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2535 มาถึงปัจจุบันพบว่าพระราชวังนี้มีการก่อสร้างซ้อนทับ 3 สมัย ภาพรวมสมัยที่ 1 ร่องรอยเป็นแนวเขื่อนก่ออิฐ บริเวณพื้นที่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ หลักฐานมีไม่มาก เนื่องจากระดับพื้นใช้งานอยู่ต่ำกว่าระดับแนวโบรารสถานในสมัยหลัง 

          สมัยที่ 2 อยู่ในช่วงหลังสมัยที่ 1 ขอบเขตพระราชวังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวในแกนทิศเหนือ-ใต้ เบนไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย พระราชวังหันหน้าไปทางตะวันออกสู่แม่น้ำน่าน กำแพงด้านนอกขอบเขตโดย รวม185 เมตร ยาว300 เมตร กำแพงหนา 1 เมตร นอกจากนี้พบแนวกำแพงกั้นแบ่งพื้นที่พระราชวังออกเป็น 3 ส่วน ชั้นนอก กลางและใน เช่นเดียวกับพระราชวังโบราณกรุงศรีอยุธยา และพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี 

          สมัยที่ 3 อยู่ในช่วงสุดท้ายพระราชวัง ซากสิ่งก่อสร้างเห็นได้ชัดที่สุด คือแนวกำแพงวังสองชั้น กำแพงชั้นนอกขอบเขตกว้าง 192.5 เมตร ยาว 267.5 เมตร ก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบคลุมพื้นที่พระราชวัง ตามแนวกำแพงมีกรอบรูปที่เรียกว่าทิมดาบ ขนาดความยาว 7 เมตรเป็นระยะต่อ เนื่องกันไป นอกจากนี้ยังพบช่องประตูด้านตะวันออกและตก ตรงกับประตูกำแพงชั้นนอก ด้านหน้าทิศเหนือก่อเป็นมุขยื่นออกมา อาคารหลังนี้น่าจะตรงกับพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ทรงกล่าวว่าเหมือนพระที่นั่งจันทรพิศาล เมืองลพบุรี 

          โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ เช่น กระเบื้องมุงหลังคาดินเผาแบบกาบกล้วย แผ่นดินเผาสำหรับปูพื้นตะปูจีน(ยึดเครื่องไม้) ภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ จากแหล่งเตาเผาบ้านเตาไห เตาตาปะขาวหายพิษณุโลก เตาแม่ น้ำน้อยสิงห์บุรี เตาทุเรียงเมืองสุโขทัย และเตาเผาเมืองศรีสัชนาลัย เครื่องถ้วยราชวงศ์หยวน-หมิง-ชิง เป็นต้น 

          ปีงบประมาณ 2552 ทำการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ในเขตพระราชวัง ขุดค้นขุดแต่งโบราณคดีบริเวณวัดวิหารทอง กำแพงเมืองพิษณุโลกบริเวณวัดโพธิญาณ รื้อย้ายบ้านเรือนราษฎรในเขตโบราณสถานจำนวน 137 หลัง และสร้างอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ 1 หลัง 

          พระราชวังจันทน์เมืองพิษณุโลก นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นหลักฐานทางกายภาพที่สัมผัสได้ แสดงถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์และยาวนานของเมืองพิษณุโลก อันนอก เหนือที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม หมายถึงคนในถิ่นด้านเศรษฐกิจ เป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้คนทุกระดับ 
          รวมทั้งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองพิษณุโลก

แผนที่



แหล่งที่มา : 1

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น