10 พฤศจิกายน 2559

วัดนางพญา



          วัดนางพญา ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับวัดราชบูรณะ ถัดไปทางทิศตะวันออก มีลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยเดียวกับวัดราชบูรณะ ต่างกันที่วัดนางพญาไม่มีพระอุโบสถมีแต่วิหาร วัดนี้มีชื่อเสียงในด้านพระเครื่อง เรียกว่า พระนางพญา ซึ่งเล่าลือกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ พระนางพญาเป็นสุดยอดพระ หนึ่งในชุดเบญจภาคี พระเครื่องนางพญามีชื่อเสียงทางด้านเมตตามหานิยม โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่เป็นนักปกครองและหัวหน้างาน ต้องดูแลลูกน้องจำนวนมาก โดยจะมีความเชื่อว่าจะทำให้ผู้ใต้ปกครองยำเกรงประดุจ "นางพญา" ปัจจุบันหาได้ยากมาก มีก็แต่ที่ได้สร้างจำลองขึ้นภายหลัง 

ประวัติความเป็นมา

          วัดนางพญา ตั้งอยู่ถนนจ่าการบุญ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ถนนมิตรภาพและอยู่ใกลชิดแม่น้ำน่าน การคมนาคมสะดวก อาคารเสนาสนะต่างๆ มี อุโบสถกว้าง ๑๐.๕๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สำหรับปูชนียวัตถุมี พระประธานในอุโบสถเรียกพระสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว นอกจากนี้มีพระเครื่องพิมพ์นางพญา เป็นต้นตระกูลในสมัยนั้น ๓ ขนาด และมีเจดีย์เก่า ๒ องค์ มีมาคู่กับวิหารวัดนางพญา สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๑๒๐ เป็นที่ทราบกันว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ทางสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ์พระนางวิสุทธิกษัตริย์ พระราชชนนีสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ไทย วัดนี้เป็นวัดต้นตระกูลของพระเครื่องสมเด็จนางพญา

          แต่เดิมนั้นยังไม่มีอุโบสถ แต่มีวิหารสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว ต่อมาวิหารชำรุดทรุดโทรม ทางวัดจึงได้ทำการบูรณะของเก่าทำให้เป็นอุโบสถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันพระราชทานพระฤกษ์การสร้างอุโบสถ ณ วันพุธที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๖ เกี่ยวกับการศึกษา ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๐๕


          พระพิมพ์นางพญา พระพิมพ์นางพญานี้ สันนิษฐานว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชา ผู้ครองเมืองพิษณุโลกในขณะนั้น ได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่พระวิสุทธิกษัตริย์องค์พระมเหสี เนื่องในโอกาสที่พระองค์สร้างวัดนางพญา และวัดราชบูรณะ และได้นำพระนางพญาบรรจุไว้บนหอระฆังของเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด ต่อมาเมื่อเจดีย์หักพังลงมา พระนางพญาจึงตกลงมาปะปนกับซากเจดีย์ และกระจายทั่วไปในบริเวณวัด ได้มีการพบกรุพระนางพญาครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๔ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และให้บรรดาข้าราชบริพาร ครั้งหลังเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อมีการขุดหลุมหลบภัยจึงไปพบพระนางพญาเป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณวัด พระพิมพ์นางพญา เป็นพระพิมพ์ปางมารวิชัย องค์พระอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีเหลี่ยมรอยตัดด้วยเส้นตอกตัดเรียบร้อย สวยงามปราณีต เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาเนื้อแกร่ง และเนื้อหยาบ เนื้อมีส่วนผสมของดินว่านต่างๆ แร่ธาตุ กรวดและทราย เนื้อที่มีสีเขียวและสีดำจะมีความแกร่งมากกว่าสีอื่น เนื่องจากถูกเผาด้วยอุณหภูมิสูง สีโดยทั่วไปจะเป็นสีแดงคล้ำน้ำตาลแก่ เขียวตะไคร่แกมดำสีเม็ดพิกุลแห้ง สีกระเบื้อง หรือสีหม้อไหม้ สีสวาทหรือสีเทา และสีแดงคล้ำมีควาบกรุ ที่เรียกว่าเนื้อมันปู และสีขาวอมชมพู


          รูปแบบของพิมพ์มีอยู่ ๖ พิมพ์ด้วยกันคือ พิมพ์ใหญ่เข่าตรง พิมพ์ใหญ่เข่าโค้ง พิมพ์ใหญ่อกนูน พิมพ์เล็กอกนูน พิมพ์สังฆาฏิ และพิมพ์เทวดา เชื่อกันว่าพระพิพม์นางพญามีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ด้านเมตตามหานิยมให้ลาภยศ แคล้วคลาดจากอันตราย และภัยพิบัติทั้งปวง อยู่ยงคงกระพันไม่ว่าอาวุธใด ๆ ไม่อาจทำอันตรายได้พระวิหาร เป็นอาคารทรงโรงก่ออิฐถือปูนมี ๖ ห้อง สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ศิลปะสุโขทัย ฝาผนังด้านหลังเขียนภาพไตรภูมิ ฝาผนังด้านหน้าเขียนภาพพุทธประวัติ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้มีการดัดแปลงพระวิหารให้เป็นพระอุโบสถ โดยการก่อสร้างขึ้นใหม่หมดทั้งหลัง


          วัดนางพญา วัดสำคัญแห่งหนึ่งในวงการพระเครื่อง และวงการนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักสมเด็จนางพญา พระเครื่องที่โด่งดังที่ยากจะได้เห็นของจริงแท้ๆ กันสักครั้งเนื่องจากมีราคานิยมค่อนข้างสูง กรุวัดนางพญา มีการค้นพบพระเครื่อง 2 ครั้งคือในปี พ.ศ. 2444 และครั้งหลังเมื่อ พ.ศ. 2497 การเดินทางมายังวัดนางพญาใช้เส้นทางเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เนื่องจากวัดนางพญาอยู่ติดกันมีถนนจ่าการบุญคั่นกลางระหว่างวัดทั้งสอง ในขณะที่เดินชมรอบๆ บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุอยู่นั้นได้เห็นป้ายชื่อวัดนางพญาซึ่งอยู่ตรงกับประตูกำแพงวัดไหนๆ ก็มาไหว้พระพุทธชินราชแล้ว ก็เดินข้ามถนนมาไหว้พระวัดนางพญาอีกหน่อยจะได้ภาพและข้อมูลมาเขียนเล่าสู่กันฟัง ภาพบนซ้ายแสดงให้เห็นว่ามีถนนกั้นกลางระหว่างกำแพงวัดทั้งสองวัด มีรถผ่านไปมาตลอดเวลาเพราะบางครั้งที่จอดรถในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเต็มจะเห็นคนมาจอดรถที่ถนนจ่าการบุญแทน เพราะสะดวกและใกล้ประตูวัด แต่ถ้าต้องไปจอดไกลๆ ท้ายถนนก็ไม่ไหวเหมือนกันครับไกลมาก เมื่อเข้าไปในวัดก็มองหาปูชนียสถานที่สำคัญของวัดปรากฏว่าพบอุโบสถหลังนี้ (เดิมทีเป็นวิหาร) ล้อมด้วยระเบียงคดเกือบรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม เว้นช่องไว้เป็นประตูเข้าออกวัดตรงหน้าอุโบสถ ด้านหลังมีเจดีย์เก่าแก่มาก 2 องค์ (ภาพล่างซ้าย) ส่วนด้านหน้าประดิษฐานพระสังกัจจายน์ เป็นบริเวณที่จัดไว้สำหรับจุดธูปเทียนบูชาพระด้านนอกอุโบสถ บันไดทางเดินขึ้นมีสิงห์อยู่เป็นคู่


          ประตูวิหารวัดนางพญา มีป้ายชื่อวัดนางพญาสีแดงมาตั้งไว้ 2 ป้าย คงเป็นเพราะวัดนางพญาอยู่ใกล้กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาก หากไม่มีป้ายบอกหลายคนคงเข้าใจว่าวิหารหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมากกว่าที่จะเป็นอีกวัดหนึ่ง เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็คือพระประธานในวิหารเป็นสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว พุทธลักษณะการสร้างคล้ายพระพุทธชินราชมาก โดยทั่วไปสำหรับพุทธศาสนิกชนอย่างเราๆ เมื่อเดินทางไปวัดต่างๆ ในหลายๆ จังหวัดคงได้พบพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานอยู่หลายวัดเพราะมีประชาชนศรัทธาพระพุทธชินราชกันเป็นอย่างมาก หากไม่มีพระนามติดที่ฐานผมเองก็คงเข้าใจผิดเหมือนกัน


          สมเด็จนางพญาเรือนแก้ว คาถาบูชา สุนะจะเร (๙ จบ) แล้วอธิษฐาน สมเด็จนางพญาเรือนแก้วเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาพร้อมกับการสร้างวัดแต่ข้อมูลหลักฐานการสร้างและข้อมูลอื่นๆ ยังไม่มีปรากฏครับ สมเด็จนางพญาเรือนแก้วเป็นพระพุทธรูปที่มีประชาชนเดินทางมากราบไหว้ขอพรตลอดทั้งวัน ในบางครั้งที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจัดงานอย่างเช่นวันลอยกระทง วัดนางพญาจะเปิดให้เป็นที่จอดรถ แต่เก็บค่าจอดเพื่อเป็นการบำรุงวัดนะครับ พระพุทธศิลป์สมเด็จนางพญาเรือนแก้วงดงามมาก มีช่างภาพทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นเดินทางมาถ่ายภาพมากมาย หากค้นหาคำว่าสมเด็จนางพญาเรือนแก้วจะพบหน้า multiply.com ซึ่งเป็นเว็บรวมภาพถ่ายของช่างภาพหลายๆ คนปรากฏขึ้นมา


          รอบๆ อุโบสถวัดนางพญา เมื่อไหว้พระขอพรกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วผมก็เดินชมรอบๆ พระอุโบสถและระเบียงคด ที่ระเบียงคดด้านทิศตะวันตกมีภาพเขียนสีสันสวยงาม 3 ภาพบนฝาผนังด้านใน ขอบหน้าต่างอุโบสถเป็นความชอบส่วนตัวครับไม่ว่าไปวัดไหนก็อยากถ่ายภาพช่องประตูและหน้าต่างเก็บไว้เสมอเพราะมีความรู้สึกว่าซุ้มประตูและหน้าต่างมีความสวยงามไม่แพ้ส่วนอื่นๆ


          พระบรมรูปสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เป็นวิหารหลังเล็กๆ แยกออกมานอกระเบียงคดของวัดนางพญา มีทางเข้าแยกกันอีกประตูหนึ่ง ภายในมีพระบรมรูปสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และสมเด็จพระวิสุทธิกษัตรี มีรูปปั้นฤๅษี ได้แก่ปู่ฤๅษีนารอด ปู่ฤๅษีตาวัว เป็นต้น มีภาพเขียนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเชษฐภคิณีคือ พระสุพรรณกัลยา ทางวัดกำลังรวบรวมปัจจัยในการปรับปรุงวิหารหลังนี้ขึ้นใหม่เพื่อให้สมฐานะ


พระบรมรูปสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระบรมรูปสมเด็จพระวิสุทธิกษัตรี


          ลานเสริมศักดิ์ศรีบารมีพระพุทธชินราช เป็นลานประกอบด้วยอาคารหลายหลังลักษณะคล้ายศาลาทรงไทย ขนาดต่างๆ กัน อยู่หัวมุมถนนจ่าการบุญ มีทางเดินปูด้วยอิฐตัวหนอนแยกจากกำแพงวัดนางพญา(ภาพล่างซ้าย) ไม่แน่ใจว่าพื้นที่ลานเสริมศักดิ์ศรีบารมีพระพุทธชินราช เป็นของใคร ในบริเวณลานนี้มีรั้วกั้นตลอดแนวมีประตูทางเข้าที่เปิดเข้าไปได้ ปิดท้ายด้วยภาพล่างขวาเครื่องสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ให้ประชาชนได้บูชานำไปสักการะในวิหาร จบการแนะนำวัดนางพญาไว้เท่านี้ก่อนหากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะนำมาอัพเดตกันใหม่ครับ

แผนที่



แหล่งที่มา : 1 , 2

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น