21 พฤศจิกายน 2559

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน

21.11.59

โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก

          25 กุมภาพันธ์ 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนนเรศวร ที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทาน

          “...พิจารณาวางแผนโครงการและก่อสร้างเขื่อน เก็บกักน้ำแควน้อยโดยเร่งด่วนในเขตอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำแควน้อย และจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการชลประทานพิษณุโลก และโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ได้ผลอย่างสมบูรณ์ต่อไป ...”

          เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่างและ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้งสำหรับพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำแควน้อย พื้นที่ 155,166 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำเสริมการเพาะปลูกในฤดูแล้งของพื้นที่โครงการเจ้าพระยา

ลักษณะของโครงการ

          การดำเนินการก่อสร้างตลอดระยะเวลา 9 ปี โครงสร้างหลัก ของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในปี 2554 ประกอบด้วยตัวเขื่อนหลัก 3 เขื่อนที่ ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ ได้แก่ เขื่อนปิดช่องเขาขาด ลักษณะเป็นเขื่อนดินสูง 16 เมตร ยาว 640 เมตร เขื่อนแควน้อย เป็นเขื่อนหินทิ้งดาดหน้าคอนกรีตสูงจากพื้น 75 เมตร ยาว 681 เมตร และเขื่อนสันตะเคียน ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนดินเหนียวสูง 80 เมตรยาว 1,270 เมตร สามารถกักเก็บสูงสุด 939 ล้านลูกบาศก์เมตร และฝายทดน้ำฝายพญาแมน ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ อยู่ด้านล่างเขื่อนแควน้อยประมาณ 40 กม. ทำหน้าที่ทดน้ำแควน้อย ส่งน้ำเข้าสู่ระบบคลองชลประทาน ให้กับพื้นที่การเกษตร 155,166 ไร่ ในพื้นที่ 25 ตำบล 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอวังทอง อำเภอพรหมพิราม

ผลสัมฤทธิ์ (ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ)
          

          ดำเนินการก่อสร้างตลอดระยะเวลา 9 ปี โครงสร้างหลักๆ ของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ประสบปัญหาอุทกภัย โดยเขื่อนแควน้อยฯได้ทำหน้าที่บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยเขื่อนแควน้อยฯ ได้รับน้ำจากลำน้ำแควน้อย และลำน้ำภาค จาก อ.นครไทยและ อ.ชาติตระการ ที่ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำท่าสูงสุดอยู่ที่ปีละ 1,691 ล้านลูกบาศก์เมตร ( ลบ.ม. ) แต่ปี 2554 ที่ผ่านมา มีน้ำเข้าเขื่อนแควน้อยถึง 2,909 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยได้กักเก็บน้ำสูงสุดในวันที่ 16 กันยายน 2554 ปริมาณน้ำขณะนั้น 959.91 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 102.2 % ของปริมาณกักเก็บสูงสุดที่กำหนดไว้ที่ 939 ล้านลบ.ม. และตลอดหนึ่งเดือนเต็มที่มีน้ำมาก ระหว่างกันยายน-ตุลาคม 2554 เขื่อน แควน้อยได้เก็บน้ำไว้ที่ 100 % ซึ่งหากไม่มีเขื่อนแควน้อยช่วยกักเก็บน้ำลุ่มน้ำแควน้อย ที่เป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน ในเขตเมืองพิษณุโลกอาจจะได้รับผลกระทบน้ำท่วมเขตเศรษฐกิจทั้งหมด เพราะช่วงเวลานั้นปริมาณน้ำแม่น้ำน่านมีสูงมาก ขึ้นสูงสุดมากกว่าน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2538 การบริหารจัดการน้ำต้องทำพร้อมกันเป็น รายชั่วโมง ระหว่างเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก และเขื่อนแควน้อยฯ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เฉพาะเดือนกันยายน 2554 เดือนเดียว เขื่อนแควน้อยช่วยชะลอน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำน่าน และจะไหลเข้าท่วมเขตเมืองพิษณุโลกไว้ถึง 899 ล้านลบ.ม.

แผนที่


แหล่งที่มา : 1

13 พฤศจิกายน 2559

อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

13.11.59


          อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ อ.ด่านซ้าย จังหวัดเลย อ.นครไทย จังหวัดพิษณุโลก และ อ.หล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 191,875 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 เป็นพื้นที่ที่ มีธรรมชาติแปลก และสวยงาม ทั้งยังเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์เป็นยุทธภูมิ ที่สำคัญ อันเนื่องจากความขัดแย้งของลัทธิ และแนว ความคิดทางการเมือง อุทยานแห่งชาติ ภูหินร่องกล้าจึงเป็นอุทยานแห่งชาติเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่รักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ ของการสู้รบและความสวยงามทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ ลักษณะภูมิอากาศภูหินร่องกล้ามีลักษณะภูมิอากาศคล้าย ภูกระดึงและภูหลวง เนื่องจากมีความสูง ในระดับไล่เลี่ยกัน อากาศจะหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว อุณหภูมิ จะต่ำประมาณ 4 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอากาศจะเย็นสบาย ฝนตกชุกในฤดูฝน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
          เนื่องจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เป็นอุทยานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีสภาพธรรมชาติที่สวยงามแปลกตาผิดจาก อุทยานแห่งชาติโดยทั่วไป ดังนั้นจุดที่น่าสนใจต่างๆ จึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ด้านประวัติศาสตร์ ได้แก่ สถานที่ที่อดีตผู้ก่อการ ร้ายคอมมิวนิสต์ เคยใช้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ

ด้านประวัติศาสตร์
1.พิพิธภัณฑ์การสู้รบ
          (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสู้รบ มีภาพแผนภูมิข้อมูล อุปกรณ์การแพทย์ อาวุธ เอกสารเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาิภูหินร่องกล้า นอกจากนี้ ยังมีห้อง ประชุมจุได้ 80 คน ใช้ในการบรรยายสรุปหรือประชุมสัมนาและเป็นสถานที่ติดต่อขอข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ

2.โรงเรียนการเมืองการทหาร


          ตั้งอยู่บริเวณหลักกม.ที่ 4 ถูกปกคลุมด้วยป่ารกครึ้มหนาแน่นเมื่อปี2513 เป็นที่ตั้งของคณะกรรมการเขต 3 จังหวัด คือ จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลก ปี พ.ศ. 2520 ก่อตั้งเป็นโรงเรียนขึ้น ให้การศึกษาตามแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์ หากมาเที่ยวใน ช่วงเดือนมกราคมจะได้พบกับบรรยากาศของใบเมเบิ้ลเปลี่ยนสีและร่วงหล่นมาต้องบ้านไม้เก่าแก่งดงามคล้ายกับ ต่างประเทศ

3.กังหันน้ำ




          อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนการเมืองการทหาร เป็นกังหันน้ำขนาดใหญ่ ถูกสร้างขึ้นจากการผสมผสานความคิดก้าวหน้าทางวิชาการ กับการนำประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้งาน โดยนักศึกษาวิศวะที่เข้าร่วมกับ พคท. หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สำนักอำนาจรัฐ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานฯ ประมาณ 3 กม.เป็นสถานที่ดำเนินการด้านปกครอง มีการพิจารณาและลงโทษผู้กระทำผิด หรือละเมิดต่อกฎลัทธิ มีคุกสำหรับขังผู้กระทำความผิด มีสถานที่ทอผ้า และโรงซ่อมเครื่องจักรกลหลงเหลืออยู่

4.โรงพยาบาลรัฐ
          อยู่ห่างจากสำนักอำนาจรัฐไปทางทิศเหนือ ประมาณ 2 กม. เป็นโรงพยาบาลกลางป่าที่มีอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลเกือบครบ ถ้วน มีห้องปรุงยา ห้องพักฟื้น ห้องผ่าตัด โรงพยาบาลแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2519 สามารถทำการรักษาพยาบาลได้อย่างดี โดยเฉพาะการผ่าตัด สามารถผ่าตัดอวัยวะได้ทุกส่วน ยกเว้นหัวใจ มีหมอและพยาบาลจบจากหลักสูตรเร่งรัดจากประเทศจีนในปี พ.ศ. 2522 เพิ่มแผนกทำฟันและวิจัยยา และเครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่ได้จากในเมืองการรักษายังมีการฝังเข็ม และใช้สมุนไพร อยู่ด้วย

5.ลานเอนกประสงค์
          เป็นบริเวณลานหินที่กว้างใหญ่ อยู่ก่อนถึงสำนักอำนาจรัฐใช้เป็นที่พักผ่อน และสังสรรค์ในหมู่สมาชิกในโอกาสสำคัญต่างๆ

6.สุสาน ทปท
          เป็นสถานที่ฝังศพของนักรบทหารปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) ที่เสียชีวิตจากการสู้รบกับทหารฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้ บริเวณลานเอนกประสงค์ ที่หลบภัยทางอากาศ เป็นสถานที่หลบภัยจากการทิ้งระเบิดทางอากาศจากทหารฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็น หลืบหินหรือโพรงถ้ำที่ซ่อนตัวในแนวต้นไม้ใหญ่ ทำให้ยากต่อการตรวจการณ์ทาง อากาศ มีอยู่หลายแห่ง แต่เปิดให้นักท่องเที่ยว เข้าชมได้ 2 แห่ง คือ บริเวณห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารราว 200 เมตร ลักษณะเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ มีซอกหลืบสลับ ซับซ้อน จุคนได้ถึง 500 คน และอีกแห่งหนึ่งบริเวณทางเข้าสำนักอำนาจรัฐ เป็นหลืบขนาดใหญ่ สามารถจุคนได้ประมาณ 200 คน

7.หมู่บ้านมวลชน
          เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มมวลชน มีอยู่หลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านดาวแดง หมู่บ้านดาวชัย แต่ละหมู่บ้านมีบ้านประมาณ 40-50 หลัง เรียงรายอยู่ในป่ารกริมถนนที่ตัดมาจากอ.หล่มเก่า ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้หลังเล็กๆ ไม่ยกพื้น หลังคามุงด้วยไม้กระดานแผ่นบางๆ กันน้ำฝนได้อย่างดี และมีหลุมหลบภัยทางอากาศอยู่ด้วย

ด้านธรรมชาติที่สวยงาม
1.ลานหินแตก



          อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นลานหินที่มีอาณาบริเวณ ประมาณ 40 ไร่ ลานหินมีรอยแตกเป็นแนว เป็น ร่อง เหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบ ขนาดพอคนก้าวข้ามได้ แต่บางรอยก็กว้างจนไม่่สามารถ จะกระโดดข้าม ไปถึง สำหรับความลึกของร่องหินแตกนั้นไม่สามารถจะคะเนได้ ลักษณะเช่นนี้ี้สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากการโก่งตัว หรือ เคลื่อนตัวของผิวโลก จึงทำให้พื้นหินนั้นแตกออกเป็นแนว นอกจากนี้บริเวณลานหินแตกยังปกคลุมไปด้วยมอสส์ ไลเคน ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ

2.ลานหินปุ่ม


          อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กม. อยู่ริมหน้าผา ลักษณะลานหินซึ่ง มีหินผุดขึ้นมาเป็นปุ่มเป็นปมขนาดไล่เลี่ยกัน คาดว่า เกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหิน ในอดีตบริเวณนี้ใช้เป็นที่พักฟื้นของคนไข้ของ โรงพยาบาล เนื่องจาก อยู่บนหน้าผา มีลมพัดเย็นสบาย

3.ผาชูธง




          อยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 500เมตร เป็นหน้าผาสูงชัน สามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้าง ไกลโดยเฉพาะภาพวิวพระอาทิตย์ตกดินจะ สวยงามไม่แพ้จุดชมวิวอื่น ๆ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ซึ่งผกค.จะขึ้นไปชูธงแดง (ฆ้อนเคียว) ทุกครั้งเมื่อรบชนะ

4.น้ำตกร่มเกล้า-ภราดร
          ห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารและกังหันน้ำประมาณ 600 เมตร มีทางแยกเดินลงน้ำตก ระยะทางประมาณ 400 เมตร จะถึง น้ำตกร่มเกล้าก่อน และเดินลงไปอีกประมาณ 200 เมตร จะเป็นน้ำตกภราดร ซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำตกร่มเกล้า เกิดจากลำธาร เดียวกันแต่มีความสูงน้อยกว่าและกระแสน้ำแรงกว่า

5.น้ำตกศรีพัชรินทร์
          ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นทหารหน่วยแรกที่ขึ้นมาบนภูหินร่องกล้า น้ำตกศรีพัชรินทร์มี ความสูงประมาณ 20 เมตร มีลักษณะคล้าย น้ำตกเหวสุวัตที่เขาใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่าบริเวณน้ำตก มีแอ่งขนาดใหญ่เหมาะสำหรับ เล่นน้ำ

6.น้ำตกผาลาด
          ตั้งอยู่ทางด้านล่างของหน่วยพิทักษ์ห้วยน้ำไซ ทางเข้าจะผ่านหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง บ้านห้วยน้ำไซ ทางเข้าสู่เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า พลังน้ำ ของการพลังงานแห่งชาติจากทางแยกประมาณ 2 กม. จะถึงทางแยกซ้ายมือ เดินลงไปอีกประมาณ 50 เมตร ก็จะถึงตัวน้ำตก และลำน้ำสายใหญ่ แม้จะเป็นน้ำตกซึ่งไม่สูงนัก แต่มีน้ำมากตลอดปี ดังนั้นการพลังงานแห่งชาติ จึงสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ในบริเวณใกล้เคียง

7.น้ำตกตาดฟ้า
          เป็นน้ำตกที่มีความสูงมากแห่งหนึ่งในเขตอุทยานฯ ปัจจุบันยังไม่มีเส้นทางเข้าสู่ตัวน้ำตก ต้องเดินทางไปตามถนนลูกรังประมาณ 1 กม. จากนั้นจึงเดินตามทางเดินในป่าอีกประมาณ 300 เมตร ก็จะได้ยินเสียงน้ำตก เดินไปตามเสียงอีกไม่่นานก็จะถึงด้านบนของ น้ำตก และต้องไต่ลงไปตามทางเดินเล็ก ๆ จึงจะมองเห็นความสวยงามของน้ำตกตาดฟ้าหรือ เรียกชื่อพื้นเมืองว่า "น้ำตกด่าน-กอซาง" ซึ่ง หมายถึงด่านตรวจของผกค.ที่มีกอของไม้ไผ่ซาง

สิ่งอำนวยความในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
          ปัจจุบันมีบ้านพัก บริการจำนวน 9 หลัง พักได้หลังละ 5-7 คน ราคา 1,000-1,600 บาท/คืน เต็นท์ขนาด 20 คน ราคา1,000 บาท/คืน นอกจากนี้ ยังมีค่ายพัก ศูนย์บริการพักผ่อนท่องเที่ยว ร้านอาหาร และสถานที่ สำหรับกางเต็นท์ ไว้บริการ

สถานที่ติดต่อ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตู้ ป.ณ. 3 อ.นครชัย จ.พิษณุโลก 65120 โทร. 0-5523-3527

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ 61 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-2579-7223, 0-2579-5734 หรือ 0-2561-4292-4 ต่อ 723,725


แผนที่

แหล่งที่มา : 1 , 2

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่)

13.11.59



ประวัติ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) จังหวัด พิษณุโลก

          หลายคนคงพอทราบแล้วว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) เป็นที่ ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย และมีคนนับถือมากมาย สำหรับ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) มีประวัติอันยาวนาน นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพราะดูจาก มีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ต่างๆ แต่ยังไมมีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่!! สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม 

          ส่วนในพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า ” ในราวพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อหล่อพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง ๓ หลัง” 
          มใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร ๔ ทิศ มีพระระเบียง ๒ ชั้น และมีรับสั่งให้ปั้นหุ่นต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2458 ปัจจุบันจึงมีชื่อเต็มว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร 

พระวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธชินราช



          พระวิหารพระพุทธชินราช เป็นวิหารทรงโรง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ซึ่งนับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งในโลก ตัวพระวิหารสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และได้รับการบูรณะให้มีสภาพดีมาตลอดจนถึงสมัยปัจจุบัน พระวิหารหลังนี้จึงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงสุโขทัยที่มีความสง่างามสมส่วน และยังคงสภาพสมบูรณ์ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย 

บานประตูมุก 
          มีบานประตูประดับมุก 2 บานคู่ กว้าง 1 เมตร สูง 4.50 เมตร เป็นบานประตูประดับมุกโบราณที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง ตัวบานประตูมุกสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2299 สมัยพระเจ้าบรมโกศ และได้ทรงนำบานประตูไม้แกะสลักเดิมไปถวายเป็นบานประตูพระวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ ภายในวิหาร ประดิษฐาน พระพุทธชินราช หรือเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธชินราช




          พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยตอนปลาย หน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก หล่อในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) ซึ่งได้สร้างพระพุทธชินราช พร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ฐานชุกชีปั๊มเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เดิมไม่ได้ลงรักปิดทอง ได้มีการปิดทองครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ คราวเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช เมื่อปี พ.ศ. 2146 
          พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปองค์ประธานของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิง มีลักษณะพิเศษเรียกว่าทีฆงคุลี คือที่ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่นิ้วยาวเสมอกัน ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักสร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกรแต่มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และมีลำตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลางซุ้ม มีเทพอสุราปกป้องพระองค์อยู่สองตน คือ ท้าวเวสสุวัณ และอารวกยักษ์ 
          ในตำนานการสร้างพระพุทธชินราชกล่าวว่า พระพุทธชินราชสร้างในสมัยพระศรีธรรมไตรปิฎก ธาตุของพระพุทธเจ้า คือ ผม ได้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา โดยใช้ช่างจากเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองหริภุญชัย ในการเททองปรากฏว่าหล่อได้สำเร็จเพียงสององค์ ส่วนพระพุทธชินราชทองแล่นไม่ตลอด ต้องทำพิมพ์หล่อใหม่ถึงสามครั้ง ครั้งสุดท้ายพระอินทร์ได้แปลงกายเป็นชีปะขาวมาช่วยเททองหล่อ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้นสองค่ำ เดือนหก ปีมะเส็ง จุลศักราช 717 จึงหล่อได้สำเร็จบริบูรณ์ 
          ปัจจุบันพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาได้ถูกอันเชิญไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ทางวัดจึงได้หล่อองค์จำลองขึ้นแทน 

พระเหลือ


          หลังจากสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือนำมารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดเล็ก หน้าตัก กว้าง 1 ศอกเศษ เรียกชื่อพระพุทธรูปนี้ว่า “พระเหลือ”เศษทองยังเหลืออยู่อีกจึงได้หล่อพระสาวกยืนอยู่ 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองในการหล่อพระพุทธรูป นำมารวมกันบนชุกชี (ฐานชุกชี) พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นลงบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นมา 1 หลัง อัญเชิญพระเหลือกับสาวกเข้าไปประดิษฐานอยู่ เรียกว่า พระเหลือ 

พระปรางค์


          องค์พระปรางค์ตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางของวัด เป็นพระปรางค์ประธาน และเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของวัด การก่อสร้างพระปรางค์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) ได้ทำตามคตินิยมของหัวเมืองราชธานี ของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยนั้น คือประสงค์ให้พระปรางค์เป็นหลักเป็นประธานของวัด และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รูปแบบของพระปรางค์เมื่อเริ่มสร้างสันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม โดยสร้างครอบพระสถูปเจดีย์ที่สร้างในรัชสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถม เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นไป ครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก ได้โปรดให้บูรณะพระปรางค์โดยดัดแปลงพระเจดีย์ ได้ให้เป็นรูปแบบพระปรางค์แบบขอมตามพระราชนิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยา

แผนที่



แหล่งที่มา : 1

11 พฤศจิกายน 2559

สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า

11.11.59

          “สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แม่หลวงของปวงชนชาวไทย โดยมีพระราชประสงค์จะอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าต้นน้ำ รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อีกด้วย
          สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ ตั้งอยู่ในเขต ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก มีเนื้อที่ 1,385 ไร่ โดยมีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาและหุบเขาลอนลาด มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 750-1,280 ม. มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส สภาพพื้นที่เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรมและไร่ร้างเกือบทั้งผืน อันเป็นผลมาจากการบุกรุกทำลายป่าในครั้งที่มีการสัมปทานป่าไม้
          นอกจากนั้น ในอดีตบริเวณพื้นที่ตั้งสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ ยังเคยเป็นสมรภูมิรบ โดยในการรบครั้งนั้นทหารไทยและลาวได้ต่อสู้กันอย่างดุเดือด จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการสู้รบในครั้งนั้น นั่นก็คือหลุมบังเกอร์ที่พบอยู่ในบริเวณพื้นที่ตั้งสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ ซึ่งการรบครั้งนั้นถูกเรียกว่า “สมรภูมิรบบ้านร่มเกล้า”
          ในปี 2542 สมรภูมิรบบ้านร่มเกล้าถูกพัฒนาให้กลายเป็น “สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ” โดยได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2542 ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในคราเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานของโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
          ในการนี้ได้มีพระราชดำริให้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ ขึ้นในพื้นที่ส่วนปลายของเทือกเขาภูสอยดาว โดยพระองค์มีพระราชประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมความมั่นคงในประเทศ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าสมบูรณ์ไว้เพื่อเป็นแหล่งป่าต้นน้ำลำธาร ทั้งยังเป็นการสนับสนุนราษฎรหมู่บ้านร่มเกล้าและหมู่บ้านข้างเคียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งได้พัฒนาสถานที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัดพิษณุโลก
          นอกจากจะเป็นการสนองงานพระราชเสาวนีย์ในองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว ที่สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ ยังเป็นแหล่งสำรวจและศึกษารวบรวมพรรณไม้พรมแดนไทย-ลาว ไม้ป่าดิบเขา อนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพนิเวศพรรณไม้ป่าดิบเขา ป่าผสมผลัดใบ สังคมพืชป่า ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาเรียนรู้ทางพฤกษศาสตร์ โดยจัดให้เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ เช่น กล้วยไม้ ไม้ดอกหอม เป็นต้น เป็นศูนย์อนุรักษ์และขยายพันธุ์พืช โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น ไม้หายาก ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และการสันทนาการให้แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ผู้สนใจทั่วไป

          ปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ มีการจัดแสดงพรรณไม้ประจำถิ่น ไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ มีโรงเรือนรวบรวมกล้วยไม้ไทย ที่รวบรวมสายพันธุ์กล้วยไม้ไทยที่หาชมได้ยากยิ่ง กว่า 300 ชนิด รวมถึงพรรณไม้ที่ค้นพบชนิดใหม่ของโลกคือ “สร้อยสยาม” ไม้ตระกูลชงโค หรือเสี้ยวของไทย เป็นพืชถิ่นเดียวหายากเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีมือจับ กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง หูใบรูปทรงกลมถึงรูปไข่กลับ ใบรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ห้อยลงยาวถึง 75 ซม. กลีบเลี้ยงรูปปากเปิด กลีบดอกมี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กลับถึงรูปรี สีชมพูอมขาวถึงสีชมพู เกสรเพศผู้มี 3 อัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 6 อัน ผลแบบฝัก รูปขอบขนาน เมล็ดรูปไข่ แบน สีน้ำตาลเข้ม พบในป่าเบญจพรรณผสมป่าไผ่ บริเวณภูเมี่ยง จ.พิษณุโลก ออกดอกตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป
          ยังมีไม้ประจำถิ่นอีกหลายชนิด อาทิ “ค้อ” พืชวงศ์ปาล์ม ที่ถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และเป็นพรรณไม้แห่งวัฒนธรรมของผู้คนบนภูเขาสูง เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน รับแรงต้านของลมได้ดี มีอายุยืนยาวนับร้อยปี นอกจากนี้ยังมี “ระฆังทอง” พันธุ์ไม้ตระกูลปีบ ที่อวดความงามตลอดทั้งปี กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดคล้ายระฆัง มีสีเหลืองทองตัดกับดอกสีแดงเข้มจัด เป็นพืชหายากพบเฉพาะบนภูเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็น กระจายพันธุ์อยู่ในจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์
          ในอนาคตสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ จะเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้วงศ์จำปีจำปา กุหลาบพันปี และกล้วยไม้ไทย นอกจากนั้นยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่สมบูรณ์ไปด้วยแมกไม้นานาชนิด รวมไปถึงกิจกรรมพานักท่องเที่ยวนั่งรถอีแต๊กเพื่อศึกษาธรรมชาติ และเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าม้ง สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ มีสถานที่กางเต็นท์ไว้รองรับให้แก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาสัมผัสธรรมชาติและชมทัศนียภาพของทิวเขา มีจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยสามารถรับรองนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 200 คน)
          นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเยี่ยมชมสวนฯ ได้ทั้ง 3 ฤดู ฤดูหนาว ก็จะได้สัมผัสกับอากาศอันหนาวเย็น พร้อมชมความงามของกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีกล้วยไม้หายากที่มีลักษณะดอกคล้ายกับรองเท้าของผู้หญิง และสร้อยสยาม พันธุ์ไม้หายากพบเฉพาะจังหวัดพิษณุโลก ฤดูฝน สามารถชมหมอกฝนได้ ณ จุดชมวิวค้อเดียวดาย เป็นจุดชมวิวไฮไลต์ของที่นี่ โดยจุดชมวิวจะเห็นทะเลหมอกในยามเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางทิวทัศน์ของ 2 ประเทศ 3 จังหวัด อันเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศไทยและลาว พร้อมชมยอดดอยภูสอยดาวที่มีเขตเชื่อมต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และเลย ส่วนฤดูร้อน จะพบกับกล้วยไม้สายพันธุ์ต่างๆ ที่ออกดอกบานสะพรั่ง รวมไปถึงพันธุ์ไม้วงศ์จำปีจำปา ที่ส่งกลิ่นหอมรัญจวนไปทั่วทั้งป่ายามค่ำคืน
          อีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดก็คือ การชมหิ่งห้อยยามค่ำคืน โดยเฉพาะหิ่งห้อยน้ำที่สามารถชมได้ในบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติภายในสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงที่อยู่ในเส้นทางผ่าน สามารถแวะพักผ่อนได้ อาทิ น้ำตกชาติตระการ สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงภูขัดฯ สถานีทดลองพืชสวนร่มเกล้า ศูนย์ศิลปาชีพ ภูขัดฯ น้ำตกภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย เป็นต้น
          เรียกได้ว่าสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อการเรียนรู้และพักผ่อน ท่ามกลางขุนเขาเมฆไม้และสายหมอก มีความหลากหลายของระบบนิเวศป่าและพรรณพืช ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใดก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาพรรณ เปรียบดั่งห้องสมุดทางธรรมชาติที่ให้บริการความรู้ทางวิชาการด้านพืชและธรรมชาติวิทยา

แผนที่ 

แหล่งที่มา : 1 , 2

อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ

11.11.59

          "อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ" หรือน้ำตกปากรอง อยู่ใน ต.ชาติตระการ อ.ชาติตระการจังหวัดพิษณุโลก อ.ชาติตระการนั้นเป็นอำเภอเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยความสงบ ไม่วุ่นวาย มีที่พักขนาดเล็กและขนาดกลางอยู่บริเวณทางผ่านจาก อ.ชาติตระการเข้าสู่อุทยานฯ ให้นักท่องเที่ยวพักผ่อน ก่อนเข้าชมอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการที่ห่างออกไปไม่ไกล
          เมื่อมาถึงน้ำตกชาติตระการทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมของเราก็เตรียมอุปกรณ์ติดตัวสำหรับเดินชมธรรมชาติสำคัญมากคือน้ำดื่ม กับขนมขบเคี้ยวที่ให้พลังงาน ทีมงานของเราออกเดินทางไปตามเส้นทางพิชิตน้ำตก 7 ชั้น ตั้งแต่เช้าตรู่ (เช้ามากประมาณเกือบแปดโมงครึ่ง 555) ได้เล็กน้อย ทีมงานของเราก็ได้รับการชักชวนจากพี่พี่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้มาร่วมกันปลูกต้นไม้เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ (นับว่าเป็นเกียรติอย่างสูง และปลื้มมากเกิดมาไม่เคยปลูกต้นไม้ในอุทยานมาก่อนเลย แต่จำชื่อต้นไม้ไม่ได้แล้วค่ะ เพราะไม่ได้นำปากกาไปถือไปแต่เสบียง) หากท่านใดได้มีโอกาสไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ เมื่อเดินไปตามทางสู่เส้นทางพิชิตน้ำตก ศึกษาธรรมชาติในช่วงต้น ๆ ทาง เห็นต้นไม้สองต้นคนละสายพันธุ์ยืนอยู่ (ตอนนี้คงยังไม่โตมาก) ก็อย่าลืมแวะไปทักทายเป็นกำลังใจให้มันโตเป็นไม้ใหญ่คู่อุทยานฯ ต่อไป
          จากนั้นเราก็เข้าสู่เส้นทางพิชิตน้ำตกชาติตระการที่มีทั้งสิ้นทั้งหมด 7 ชั้น แต่ละชั้นก็มีชื่อเสียงไพเราะ ตามนามพระธิดาทั้ง 7 พระองค์ของท้าวสามล ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “สังข์ทอง” เราก็เดินสูดอากาศบริสุทธิ์ อัดให้เต็มปอด ได้สักหน่อยก็มาถึง


          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 1 “มะลิวัลย์” น้ำตกชั้นนี้ น้ำตกจะไหลลงมาจากซอกผาลงสู่แอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถลงเล่นน้ำได้ น้ำที่ไหลตกลงมาเป็นสายอย่างต่อเนื่องโดยมีช่องผาเป็นพื้นหลังของภาพอันสวยงามจนทางอุทยานฯ ต้องจัดทำเป็นพื้นที่ยื่นออกไปสำหรับเป็นจุดชมวิวที่นักท่องเที่ยวนิยมเก็บภาพอีกจุดหนึ่ง บริเวณโพรงถ้ำถัดจากจุดชมทัศนียภาพภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย กราบสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับการเดินทาง
          จากนั้นทีมงานของเราจึงเดินทางต่อ ระหว่างทางทุกท่านก็อย่างพลาดที่จะชมธรรมชาติทั้งพืชพรรณไม้ หรือจะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์น้อยทั้งบนดิน และบนต้นไม้ สู่เส้นทางขึ้นเนินมุ่งสู่น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 2 ระยะทาง 400 เมตร

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 2 “กรรณิการ์” กว่าจะมาถึงน้ำตกชั้นนี้ทำเอาทีมงานของเราเริ่มจะเหนื่อยไปตาม ๆ กัน ที่น้ำตกชาติตระการชั้น 2 นี้เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลลงมาเรื่อย ๆ ผ่านชั้นเล็ก ๆ ประมาณ 3-4 ชั้นจนมาสู่ด้านล่างของน้ำตก

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 3 “การะเกด” ถ้าทีมงานเรานับชั้นของน้ำตกไม่ผิด น้ำตกชาติตระการชั้นที่สามห่างจากชั้นสองไปประมาณ 250 เมตร สามารถมองเห็นได้เมื่อยื่นอยู่ด้านล่างน้ำตกชั้นที่สอง น้ำตกชาติตระการชั้นนี้เป็นเพียงน้ำตกเล็ก ๆ ไหลมาตามร่องผาเท่านั้น

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 4 “ยี่สุ่นเทศ” ถัดจากน้ำตกชาติตระการชั้นที่สามมาไม่ไกลประมาณ 110 เมตร เป็นน้ำตกที่ติดลำดับต้นของชั้นน้ำตกที่สวยที่สุดในอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ ชั้นนี้น้ำตกจะไหลจากแผ่นหินกว้างเป็นม่านน้ำ (ถ้าฤดูน้ำหลากความสวยจะยิ่งเพิ่มขึ้น) บริเวณชั้นนี้มีเส้นทางแยกต่อไปยังผาแดงและเขากระดานเลข (เนื่องจากสภาพอากาศไม่ค่อยน่าไว้วางใจทางทีมงานจึงไม่ได้ไปเส้นผาแดงและเขากระดานเลข แต่มุ่งตรงไปเก็บภาพน้ำตกให้ครบทุกชั้นแทน)

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 5 “เกศเมือง” ลักษณะของน้ำตกชาติตระการชั้นที่ห้า ตามความคิดเห็นของผู้เขียน ลักษณะน้ำตกจะคล้าย ๆ กับน้ำตกชาติตระการชั้นที่สองที่มีการไหลลดหลั่นมาตามชั้นย่อย ๆ แต่ขนาดน้ำตกจะดูเล็กกว่า

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 6 “เรืองยศ” เป็นน้ำตกที่ดูกระฉับกระเฉงกว่าน้ำตกชาติตระการชั้นอื่น ๆ น้ำที่ไหลลงมาจากแหล่งต้นน้ำไหลมาตีโค้งเหมือนกันเล่นสไลเดอร์ดูสวยงามไปอีกแบบ

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 7 “รจนา” สมกับเป็นน้องนุชชั้นสุดท้ายในบรรดาน้ำตกชาติตระการชั้นต่าง ๆ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น แต่การมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการนอกจากความสวยงามของน้ำตกทุกชั้นที่ต่างกันแล้ว ระหว่างเส้นทางสู่น้ำตกชั้นต่าง ๆ ก็เป็นธรรมชาติที่ควรให้ความสนใจทั้งพืชพันธุ์ต่าง ๆ สัตว์น้อยใหญ่ เช่น นก ผีเสื้อสวย ๆ งามทำให้การเดินทางระยะทางอันยาวไกลเกือบกิโลครึ่ง ไม่น่าเบื่อ แต่น่าศึกษาเรียนรู้

การเดินทาง
          รถยนต์ส่วนตัว จาก อ.เมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) เลี้ยวซ้ายตรงสามแยกบ้านแยงเข้าทางหลวงหมายเลข 2013 ผ่าน อ.นครไทย เมื่อถึงสามแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1143 แล้วตรงไป ก่อนถึง อ.ชาติตระการ 1 กม. พบสามแยกให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 3127 อีก 7 กม.พบป้ายทางเข้าอุทยานฯ ให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 2 กม.ถึงบริเวณลานจอดรถ รวมระยะทางประมาณ 145 กม.
          รถประจำทาง ขึ้นรถสายพิษณุโลก-ชาติตระการ ลงที่ตลาดชาติตระการ แล้วต่อรถสองแถวสายชาติตระการ-บ้านร่มเกล้า หรือเหมารถจากตลาดชาติตระการไปยังอุทยานฯ

แผนที่


แหล่งที่มา : 1 , 2 , 3

น้ำตกไผ่สีทอง

11.11.59

น้ำตกไผ่สีทอง ที่เที่ยวแห่งใหม่ของจ.พิษณุโลก
          พิษณุโลก คือจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่างของไทย พิษณุโลก ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและน่าไปเยือนมากมายหลายแห่ง ล่าสุด! จ.พิษณุโลกได้เปิดตัว น้ำตกไผ่สีทอง แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ของจ.พิษณุโลก
          น้ำตกไผ่สีทอง ตั้งอยู่ที่บ้านตอเรือ ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และเป็นน้ำตกที่ถูกค้นพบโดยชาวบ้านในพื้นที่ โดยน้ำตกมีจำนวน 9 ชั้น แต่ละชั้นก็ล้วนแต่มีความสวยงามและลดหลั่นกันไป แต่ที่งดงามมากคือ ชั้นที่ 5 และ ชั้น ที่ 9 ซึ่งเป็นโขดหินสูงกว่า 15 เมตร รอบๆน้ำตกยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นอย่างมาก

          นอกจากนี้แล้วนักท่องเที่ยวยังสามารถเดินเที่ยวชม น้ำตกทั้ง 9 ชั้น ในระยะทาง 1.5 กม. ซึ่งสามารถเดินชมได้อย่างปลอดภัย และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงยังพบว่ามีรอยพระพุทธบาทกว่า 10 จุด มีหินเทิน หินซ้อนเป็นชั้นๆลักษณะ สวยงามมากด้วยเช่นกัน
          สำหรับการเดนิทางไปท่องเที่ยวน้ำตกไผ่สีทองนั้น นักท่องเที่ยวสามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 12 สายพิษณุโลก – หล่มสัก เมื่อถึงโรงเรียยบ้านแก่งจูงนาง ประมาณกม.ที่ 32-33 เลี้ยวขวาเข้าไปยังเส้นทางถนนบ้านแก่งจูงนาง – บ้านรักไทย อำเภอเนินมะปราง จ.พิษณุโลกอีก ประมาณ 15 กม.
          วันที่ 21 ต.ค.57 ทางจังหวัดจะทำการเปิดตัวเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติผสมผสานกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เนื่องจากบริเวณนั้นจะมีสวนเกษตรพืชผักผลไม้ หลากหลายชนิด จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก ในอนาคตจะได้จัดให้มีการท่องเที่ยวแบบ โฮมสเตย์ ในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย
          พร้อมกันนี้ทางจังหวัดจะได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างทำฝายชะลอน้ำเพื่อกักเก็บน้ำให้สามารถไหลได้ตลอดปีอีกด้วย

แผนที่

แหล่งที่มา : 1 , 2

เขาน้อย เขาประดู่

11.11.59

          เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ มีพื้นที่กว่า ๘๐,๙๐๐ ไร่ ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ที่ตั้งสำนักงานเขตฯ อยู่ที่บริเวณบ้านป่าคาย หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านนายาง อำเภอวัดโบสถ์ ห่างจากตัวเมือง ๔๕ กิโลเมตร การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับอุทยานแห่งชาติแก่งเจ็ดแคว จากพิษณุโลกเดินทางไปอำเภอวัดโบสถ์ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒ ระยะทาง ๖ กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๑ อีก ๒๕ กิโลเมตร ก่อนขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำแควน้อย มีทางแยกไปบ้านนาขามตามทางหลวงหมายเลข ๑๒๒๐ อีก ๘ กิโลเมตร มีป้ายบอกทางเข้าเขตห้ามล่าฯ อีก ๖ กิโลเมตร เป็นทางลูกรังและมีจุดที่ต้องขับผ่านธารน้ำไหล จำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อในฤดูฝน
          เขาน้อย-เขาประดู่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง ๑๐๐-๕๐๐ เมตร ประกอบด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้า มีความหลากหลายทางด้านพืชพรรณ มีดอกไม้ตามฤดูกาลที่สวยงามคือดอกกระเจียวและกล้วยไม้ และยังเป็นแหล่งค้นพบปูพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า ปูแป้ง หรือ ปูสองแคว ซึ่งพบเฉพาะในฤดูฝน เหมาะแก่การท่องเที่ยวทัศนศึกษาเชิงนิเวศ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม
          ผู้สนใจเดินเท้าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทางเขตฯ ได้ทำไว้หรือติดต่อพักแรม สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเขตได้โดยตรงหรือติดต่อล่วงหน้าที่ สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ หมู่ ๒ ตำบลบ้านยาง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ๖๕๐๐๐

ติดต่อ: โทร. ๐-๗๑๙๘-๗๙๘๗
สถานที่ตั้ง: สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ หมู่ ๒ ตำบลบ้านยาง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ๖๕๐๐๐

แผนที่

แหล่งที่มา : 1

ถ้ำผาท่าพล

11.11.59

          เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล อยู่ที่อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 พื้นที่ได้รับการประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย มีอาณาเขตครอบคลุมท้องที่ ตำบลเนินมะปราง ตำบลบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,775 ไร่

ลักษณะทางธรณีวิทยา
          ภูเขาผาท่าพลเป็นเขาหินปูน อยู่ในมหายุคพาลีโอซีน (Palaeocene) และอยู่ในยุคย่อยคาร์บอนิฟอรัส (Caboniferus) มีอายุราว 360-286 ล้านปีมาแล้ว เป็นภูเขาที่ทอดตัวยาวตามแนวเหนือ-ใต้ ภูเขาหินปูนบริเวณนี้ ส่วนมากเกิดจากการทับถมของเปลือกหอย พลับพลึงทะเล หรือปะการัง มีการตกตะกอนทางเคมีอยู่น้อยมาก จากการศึกษาและจำแนกซากดึกดำบรรพ์ ทำให้ทราบว่าบริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน


ลักษณะภูมิประเทศ พรรณไม้ และสัตว์ป่า
          ภูเขาผาท่าพลเป็นภูเขาหินปูนลูกโดด ภูเขาทอดยาวมีลักษณะคล้ายรูปเกือกม้า มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่ประมาณ 236 เมตร มีที่ราบเล็ก ๆ ตามหุบเขา มีลำน้ำไหลลอดเป็นถ้ำผ่านภูเขาสองแห่ง ซึ่งมีน้ำไหลผ่านตลอดปี ลักษณะเช่นนี้พบได้น้อยมากในประเทศไทย ป่าไม้ทั่วไปเป็นพรรณไม้ชนิดที่ขึ้นได้บนภูเขาหินปูน เช่น ไทร สลัดได จันทน์ผา ฯลฯ ซึ่งจัดเป็นสังคมพืชบนภูเขาหินปูน สามารถทนร้อนและทนแล้งได้ดี นอกจากนี้ยังมีพืชที่ขึ้นตามที่ราบริมลำห้วยเช่น หวายขม บริเวณป่าดิบแล้งยังมีพรรณไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะแบก ยาง มะค่าโมง มะหาด มะเดื่อ ฯลฯ ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์บนภูเขาหินปูน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหลบภัยของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เลียงผา หมีควาย หมีคน เม่นใหญ่ เม่นหางพวง เสือปลา นิ่ม ฯลฯ สัตว์ป่าที่อยู่ในธรรมชาติที่สามารถเห็นอย่างใกล้ชิดได้ เช่น ลิงอ้ายเงียะ และ กระรอก รวมทั้งค้างคาวปากย่นที่มีนับล้านตัว มีนกประจำถิ่น และนกอพยพอีกหลายชนิด ได้แก่ นกกางเขนดง นกกะรางหัวหงอก นกกวัก นกจับแมลงคอแดง นกคอทับทิม ฯลฯ


สถานที่ศึกษาธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ

  • ถ้ำนเรศวร มีหินงอกหินย้อยคล้ายพระมาลาเบี่ยง 
  • ถ้ำเรือ มีรูปคล้ายเรือคว่ำเป็นเพดานถ้ำ 
  • ซากดึกดำบรรพ์ ซากหอยและปะการังอายุ 360 ล้านปี 
  • อักษรญี่ปุ่น ตัวอักษรปริศนาบนหิน เชื่อว่าทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สลักไว้ 
  • ถ้ำเต่า ถ้ำที่ใช้เป็นฉากถ่ายภาพยนตร์เรื่อง ฉลุยหิน 
  • ถ้ำลอด ถ้ำที่สามารถใช้ลอดทะลุไปถึงอีกฟากของภูเขา 
  • ถ้ำผาแดง มีการทาสีไว้ด้วยมนุษย์โบราณ 
  • เพิงผาฝ่ามือแดง มีภาพสียางไม้ผสมเฮมาไทต์ 35 ภาพ วาดเป็นศิลปะต่าง ๆ และประทับเป็นรอยฝ่ามือ กระทำไว้ด้วยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ 4 พันปีมาแล้ว 
  • ถ้ำค้างคาว เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาว และมีหินงอกหินย้อยสวยงาม มีทั้งค้างคาวปากย่น และค้างคาวปีกถุงเคราดำ

แผนที่


แหล่งที่มา : 1 , 2 , 3


บ้านเนินมะปราง (กุ้ยหลิน ไทยแลนด์)

11.11.59

          เนินมะปราง อำเภอเล็กๆ ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยขุนเขา สูงตระหง่านทำให้มันถูกยกเป็นอีกหนึ่งกุ้ยหลินเมืองไทย ด้วยความเป็นเอกลักษณ์นี้ เนินมะปรางได้ดึงดูดนักเดินทางรวมทั้งตัวผมเองให้มาสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งนี้
          พื้นที่อำเภอเนินมะปรางเดิมเป็นป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยต้นไม้และสัตว์ป่า ห่างไกลจากผู้คน แต่จะมีเพียงผู้มีอาชีพพรานที่เข้ามาล่าสัตว์และหาของป่า มาสร้างกกปางและอาศัยพักแรมชั่วคราวเท่านั้น
          ต่อมามีกลุ่มคนจากนครไทย ด่านซ้าย และหล่มสัก อพยพย้ายถิ่นฐานเดิมเข้ามาตั้งรกรากบริเวณบ้านชมพู บ้านมุง วังโพรง ไทรย้อย จากนั้นก็ขยับขยายที่ทำกินไปที่วังยาง บ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก และเนินมะปรางในที่สุด
          อำเภอเนินมะปราง อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 68 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด การดำเนินชีวิตของคนอำเภอเนินมะปราง ส่วนใหญ่จะมีอาชีพเกษตรกรรม วิถีชีวิตก็ยังคงเรียบง่ายตามสไตล์ของคนต่างจังหวัดทั่วๆ ไป
          ต่อมาเป็นภาพของเส้นทางสู่ กุ้ยหลิน ไทยแลนด์ อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งระยะทางคร่าวๆ ก็ห่างจากตัวเมืองประมาณ 62 กิโลเมตรครับ
          ตัวอำเภอเนินมะปรางเดิมเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ตั้งมาประมาณ 42 ปี ลักษณะภูมิประเทศประมาณร้อยละ 45 เป็นภูเขาหินปูนอายุกว่า 300 ล้านปีที่อำเภอเนินมะปรางถ้ำจะเยอะมาก แต่ละถ้ำก็จะไกลๆกันออกไป แต่ส่วนภายในวัดบางมุง จะมีถ้ำอยู่สองถ้ำได้แก่ ถ้ำนางสิบสองและถ้ำหลวงพ่อบุญมี
          ด้วยความที่มีเขาหลายลูกและถ้ำมากมาย ดังนั้นเมื่อถึงยามยามอาทิตย์ใกล้อัสดง แสงสุดท้ายจากขอบฟ้ากำลังจะลับหายไป เหล่านกบินกลับรัง แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นของบรรดาค้างคาวจำนวนมาก บินออกจากถ้ำเป็นสายควันดำโบกสะบัดเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวไปมา

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล

          ครอบคลุมเนื้อที่ 1,775 ไร่ในท้องที่อำเภอเนินมะปราง ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก 85 กิโลเมตร การเดินทางเริ่มจากตัวเมืองพิษณุโลกไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ถึงอำเภอวังทอง ระยะทาง 20 กิโลเมตร แยกขวาไปยังอำเภอสากเหล็กอีก 38 กิโลเมตรและที่นี่ยังมี “ลิงอ้ายเงี้ยะเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอีกมากมาน ถ้าท่านมาเที่ยวที่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล อำเภอเนินมะปราง จะเห็นฝูงลิงอ้ายเงี้ยะ หลายๆฝูงตามภูเขาและบริเวณรอบๆ ถ้ำ
          ถ้ำพระวังแดง เป็นถ้ำที่ยาวและใหญ่เชื่อมต่อกันหลายถ้ำ มีความยาวประมาณ 12.5 กิโลเมตร ถือว่าเป็นถ้ำที่ยาวมาก ภายในถ้ำมีห้องโถงขนาดใหญ่มีหินงอกหินย้อยสวยงามและมีลำห้วยอยู่ด้านล่าง ในลำห้วยมีสิ่งที่น่าสนใจเป็นปลาพันธุ์ใหม่หายาก คือ ปลาค้อถ้ำพระวังแดงหรือปลาไม่มีตา
          ถ้ำซากดึกดำบรรพ์ ที่เห็นเป็นซากหอยตะเกียงยักษ์ พลับพลึงทะเล สาหร่ายทะเล ที่อยู่ตามผนังถ้ำ นักวิชาการบอกว่าเมื่อ 360 ล้านปีที่แล้ว พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน
          นอกจากนี้ที่พิษยังมีสถานที่ท่อง เที่ยวอื่นๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น “ขุนเขารักไทย” แหล่งปลูกสตอเบอรี่รสชาดดีมีคุณภาพ พร้อมให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม ช็อป ชิม ได้แล้วในฤดูหนาวที่จะถึงนี้..
          ทั้งหมดนี้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองพิษณุโลกเท่านั้น ยังมีอีกหลายที่ซึ่งโอกาสหน้าเราจะนำมาแนะนำกันอีก และสำหรับใครกำลังวางแผนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวละก็สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก สอบถามข้อมูล Tel. 085-400-1727

แผนที่

แหล่งที่มา : 1 , 2 , 3

ภูแผงม้า ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

11.11.59

          ภูแผงม้า เป็นจุดชมวิวสูงสุดที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่ริมเขตอุทยานฯ ใกล้กับภูทับเบิก โดยสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,775 เมตร เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นได้ทั้ง พระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตก ได้สวยงามมากที่สุดจุดหนึ่ง เนื่องจากสามารถเห็นวิวรอบๆ ได้เกือบ 360 องศา ทั้งวิวไร่กะหล่ำปลีจากภูทับเบิก วิวทะเลหมอกจากบริเวณอ.หล่มเก่า- อ.หล่มสัก และวิวทะเลภูเขาสลับซับซ้อนจาก อ.เขาค้อ
          สภาพอากาศที่ ภูแผงม้า จะค่อนข้างหนาวเย็น มีลมกรรโชกแรง และมีไอหมอกในช่วงเช้าและเย็นตลอดทั้งปี เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบอากาศหนาวเย็น โดยอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ได้เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกบนจุดชมวิวภูแผงม้าไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการค้างแรมด้วย มีระเบียงไม้ขนาดใหญ่ไว้รับนักท่องเที่ยวให้สามารถขึ้นมาชมวิวได้ อย่างสะดวกสบาย มีห้องน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการกางเต็นท์พักแรมไว้ด้วย
          การเดินทางไปยังภูแผงม้า สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือหากมาจากพิษณุโลก ก็ผ่านด่านเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ ภูหินร่องกล้า ท่องเที่ยวภูหินร่องกล้าโดยรอบเสร็จแล้ว ใช้เส้นทาง 2331 เดินทางต่อไปยังภูทับเบิก จะเห็นทางเข้าภูแผงม้าอยู่ด้านขวามือ ก่อนถึงด่านทางออกอุทยานฯ ประมาณ 500 เมตร
          หากเดินทางมาจากเพชรบูรณ์ ก็ใช้เส้นทางขึ้นเขาทางอ.หล่มเก่า เส้นทางสาย 2331 จากเชิงเขาขึ้นมาประมาณ 17 กม.เมื่อขึ้นมาจนถึงทางแยกเข้าภูทับเบิก ไม่ต้องเลี้ยวขวาเข้าภูทับเบิก ให้ตรงเข้าไปทางด่านเก็บค่าธรรมเนียมอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เลยด่านเก็บเงินไปประมาณ 500 เมตรให้เลี้ยวซ้าย ขึ้นไปยังจุดชมวิว ภูแผงม้า
          สำหรับจุดชมวิว และจุดกางเต็นท์ อยู่ห่างจากจุดจอดรถขึ้นไปประมาณ 400 เมตร

แผนที่


แหล่งที่มา : 1 , 2

เจดีย์ยอดด้วน (เขาสมอแคลง)

11.11.59

          เจดีย์ยอดด้วน (เขาสมอแคลง) มีอายุราว 700 ปี พงศาวดารเหนือบันทึกไว้ว่า พระยาจิตรไวย แห่งเจ้าเมืองน่านสร้างเจดีย์องค์นี้เพื่อบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์เถระเจ้า คือ พระอุบาลีเถระและพระศิริมานนท์เถระ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ 2 รูปที่ได้รับนิมนต์เป็นประธานฝ่ายสงฆ์สร้างพระพุทธชินราช ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร มีการซ่อมแซมและบูรณะมาหลายครั้งแล้ว ลักษณะเจดีย์เป็นทรงลังกา มีฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 3 ชั้น หลังจากนั้นจะเป็นฐานย่อแปดเหลี่ยมแล้วขึ้นเป็นองค์ระฆัง ลักษณะเด่นของที่นี่คือบริเวณยอดเจดีย์องค์ระฆังจะมีเพียงแค่ครึ่งซีกเท่านั้น

แผนที่



แหล่งที่มา : 1 , 2

น้ำตกสกุโณทยาน

11.11.59

          “สวนรุกขชาติสกุโณทยาน” คือ สวนป่าซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองพิษณุโลกมาช้านาน พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบเนินเขา มี “ลำน้ำเข็ก” หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แม่น้ำวังทอง” ไหลผ่านทางด้านทิศใต้ สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังมีเนื้อที่รวมทั้งหมด 814 ไร่ เดิมทีสวนรุกขชาติสกุโณทยานแห่งนี้เคยมีชื่อว่า “วนอุทยานวังนกแอ่น” โดยได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นวนอุทยานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 – 2498 (สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสวนอุทยานวังนกแอ่นแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนาม “สกุโณทยาน” แทนคำว่า “วังนกแอ่น” ซึ่งเคยใช้อยู่เดิม แต่นั้นมาวนอุทยานวังนกแอ่นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วนอุทยานสกุโณทยาน”
          ในปี พ.ศ. 2504 กรมป่าไม้ได้เปลี่ยนชื่อวนอุทยานฯเป็น “สวนรุกขชาติสกุโณทยาน” เพื่อให้เป็นไปตามหลักการจัดการทางวิชาการ ภายในสวนรุกขชาติสกุโณทยานมีสิ่งที่น่าสนใจต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. น้ำตกสกุโณทยาน เป็นน้ำตกชั้นเดียวขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ 10 เมตร กว้างประมาณ 60 เมตร และเป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำเข็ก (ตัวน้ำตกกั้นขวางตลอดแนวความกว้างของลำน้ำเข็ก) เดิมน้ำตกแห่งนี้เคยมีชื่อว่า “น้ำตกวังนกแอ่น” ต่อมาภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อไปตามชื่อของวนอุทยานฯ (เมื่อปี พ.ศ. 2501) น้ำตกสกุโณทยานมีน้ำไหลตลอดทั้งปีโดยในช่วงฤดูฝนสายน้ำจะไหลแรงและเป็นสีน้ำตาลขุ่นไม่เหมาะแก่การลงเล่น (อาจเกิดอันตรายจากการลงเล่นน้ำตกถึงขั้นเสียชีวิตได้) ส่วนในช่วงฤดูหนาว – ฤดูร้อนสายน้ำจะไหลช้าลงเป็นสีเขียวค่อนข้างใส นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำตามแก่งต่าง ๆ ซึ่งอยู่ห่างออกมาทางส่วนปลายของตัวน้ำตกได้อย่างปลอดภัย ในช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์อื่น ๆจะพบเห็นนักท่องเที่ยวพาครอบครัว – เพื่อนฝูงมานั่งปูเสื่อรับประทานอาหารอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ริมแก่งเป็นกลุ่ม ๆ
          นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถบริเวณลานจอดแล้วเดินไปถึงตัวน้ำตกสกุโณทยานได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที

2. พลับพลารับเสด็จ และ ศาลาวนาศัย กรมป่าไม้ได้จัดสร้างอาคารทั้ง 2 หลังขึ้นเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จประพาส
          “วนอุทยานสกุโณทยาน” ปี พ.ศ. 2501 นักท่องเที่ยวสามารถยืนชมทิวทัศน์ของน้ำตกสกุโณทยานและสองฟากฝั่งของลำน้ำเข็กจาก “ศาลาวนาศัย” ได้ค่อนข้างชัดเจน สำหรับ “พลับพลารับเสด็จ” นั้นปัจจุบันทางสวนรุกขชาติสกุโณทยานได้จัดทำรั้วกั้นเอาไว้ไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปภายในพลับพลาเรียบร้อยแล้ว
          พลับพลารับเสด็จ และ ศาลาวนาศัยตั้งอยู่ใกล้กับน้ำตกสกุโณทยาน นักท่องเที่ยวสามารถสังเกตเห็นอาคารทั้งสองหลังดังกล่าวได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

3. สวนไม้วรรณคดี , สวนสมุนไพร และ สวนไม้หอม ทางสวนรุกขชาติสกุโณทยานได้ทำการจัดสร้าง “สวนไม้วรรณคดี” , “สวนสมุนไพร” และ “สวนไม้หอม” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ – ศึกษาพันธุ์พืชของชุมชน มีการรวบรวมพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่สำคัญของไทยนำมาปลูกไว้อย่างเป็นระบบ ติดตั้งป้ายให้ความรู้บอกชื่อ สายพันธุ์ และคุณประโยชน์ของพืชชนิดนั้น ๆ เอาไว้โดยสังเขป ตัวอย่างพืชพันธุ์ไม้ที่สามารถพบเห็นได้ภายในสวนรุกขชาติสกุโณทยาน เช่น กฤษณา , การะเวก , ทรงบาดาล , นนทรี , บุนนาค , พิกุล , มณฑา(ยี่หุบ) , สารภี , ลำดวน , ฯลฯ ใครที่อยากเห็นพันธุ์ไม้ชื่อไพเราะหน้าตาแปลก ๆ ก็ลองแวะมาดูได้

4. เส้นทางศึกษาธรรมชาติสกุโณทยาน สำหรับผู้ซึ่งชื่นชอบการปล่อยอารมณ์.....เอ้อระเหย.....ชมนก.....ชมไม้.....เดินลอยชายสบาย ๆ กลางผืนป่า สวนรุกขชาติสกุโณทยานได้จัดเตรียม “เส้นทางศึกษาธรรมชาติสกุโณทยาน” ระยะทางประมาณ 1.15 กม.เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวเดินออกกำลังกายเบา ๆ พร้อมกับเก็บเกี่ยวความรู้เรื่องระบบนิเวศน์ ภายในเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้นักท่องเที่ยวจะได้พบกับสถานีย่อยต่าง ๆ รวมทั้งหมด 17 แห่ง อาทิเช่น โรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก , มะม่วง 3 คนโอบ , บ้านในต้นไม้ , นักบุญแห่งป่า.....นักฆ่าเลือดเย็น , สวนสยามของสัตว์ป่า เป็นต้น .....น่าเสียดายที่แผ่นป้ายอธิบายความรู้ตามสถานีบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติบางส่วนได้รับความเสียหายไปตามกาลเวลาบ้างแล้ว
          แม้ว่าพื้นที่โดยรอบสวนรุกขชาติสกุโณทยานจะมีความร่มรื่น สวยงาม แต่ก็ยังไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งโดดเด่นเพียงพอจะดึงดูดให้ผู้คนต่างถิ่นแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยือนเป็นจำนวนมาก (จากการสังเกตป้ายทะเบียนรถยนต์/รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดอยู่ภายในลานจอดรถของสวนรุกขชาติสกุโณทยาน ส่วนมากจะเป็นป้ายทะเบียนพิษณุโลก มีรถป้ายทะเบียนจังหวัดอื่น ๆน้อยครับ) ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) แนะนำว่า หากคุณไม่ใช่ผู้ซึ่งชื่นชอบการท่องเที่ยวน้ำตก หรือการท่องเที่ยวศึกษาพืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เป็นชีวิตจิตใจแล้วล่ะก็ การตั้งใจเดินทางไกลเพื่อมาท่องเที่ยว ณ สวนรุกขชาติสกุโณทยานแห่งนี้เป็นการเฉพาะอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกซึ่งคุ้มค่าสักเท่าไหร่นัก [แต่ในกรณีที่คุณมีโอกาสเดินทางมาล่องแก่งลำน้ำเข็ก , มาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า หรือว่ามีโอกาสใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนสายพิษณุโลก – หล่มสัก) ขับรถยนต์ส่วนบุคคลมุ่งหน้าจาก อ.วังทอง จ.พิษณุโลกไปพักผ่อนยัง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ล่ะก็ การจัดสวนรุกขชาติสกุโณทยานรวมเข้าเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวตามโปรแกรมด้วย.....ก็ถือว่าเป็นทางเลือกซึ่งน่าจะเหมาะสมครับ

การเดินทางสู่สวนรุกขชาติสกุโณทยาน :
          รถยนต์ส่วนบุคคล จาก อ.เมือง จ.พิษณุโลก ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนสายพิษณุโลก – หล่มสัก) ขับรถมุ่งหน้าไปทาง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ประมาณ 33กม. จะเห็นป้ายสวนรุกขชาติสกุโณทยานอยู่ทางด้านขวามือ สามารถขับรถยนต์เข้าไปในบริเวณลานจอดใกล้ ๆ กับตัวน้ำตกได้
รถโดยสารประจำทาง – รถรับจ้าง ขึ้นรถประจำทางสายพิษณุโลก – เพชรบูรณ์ , สายพิษณุโลก – หล่มสัก หรือ สายพิษณุโลก – นครไทย ไปลงด้านหน้าสวนรุกขชาติสกุโณทยาน

ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งปีแต่ช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม คือ กลางเดือน พ.ย. – ต้นเดือน ก.พ. (ช่วงฤดูหนาว คือ ช่วงที่สวนรุกขชาติสกุโณทยานมีความสวยงามมากที่สุด) 

แผนที่



แหล่งที่มา : 1 , 2

น้ำตกแก่งโสภา

11.11.59

          “น้ำตกแก่งโสภา” หรือที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเรียกว่า “ไนแองการ่าเมืองไทย” เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูงประมาณ 40 เมตร มีชั้นย่อย ๆ ทั้งหมด 3 ชั้น ด้านบนมีลักษณะเป็นแผ่นหินขนาดใหญ่วางขวางอยู่กลางทางน้ำ ด้านล่างมีโขดหินขนาดย่อมกระจายตัวอยู่ทั่วไป ในช่วงฤดูฝนสายน้ำสีโคลนของน้ำตกแก่งโสภาจะไหลแรงเชี่ยวกรากจนไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ ส่วนในช่วงฤดูหนาว – ฤดูร้อนสายน้ำจะลดระดับความรุนแรงลงจนสามารถมองเห็นชั้นทั้ง 3 ของน้ำตกแก่งโสภาได้ชัดเจน นักท่องเที่ยวสามารถเดินตามบันไดลงไปยังจุดชมทิวทัศน์ด้านหน้าตัวน้ำตกเพื่อชื่นชมความงดงามแบบเต็ม ๆตาได้ (ในช่วงฤดูฝนจะมีการกั้นรั้วไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินลงบันไดผ่านไปยังจุดชมทิวทัศน์ด้านหน้าน้ำตกแก่งโสภา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากการลื่นล้ม หรือถูกกระแสน้ำด้านหน้าตัวน้ำตกพัดปลิวไปครับ)
          โดยรอบบริเวณน้ำตกแก่งโสภามีแมกไม้น้อยใหญ่ขึ้นยืนต้นกางกิ่งใบให้ร่มเงาครึ้ม บางต้นก็งอกรากปกคลุมซอกหลืบระหว่างหินใหญ่จนดูคล้ายกับฉากของภาพยนตร์ผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์ “ศาลเจ้าพ่อ – ศาลเจ้าแม่” เล็ก ๆที่ตั้งอยู่ระหว่างบันไดทางลงสู่จุดชมทิวทัศน์ด้านหน้าตัวน้ำตกก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งช่วยเสริมบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกลึกลับชวนให้ค้นหา พืชจำพวกมอสและตะไคร่น้ำแพร่ขยายพันธุ์ไปทั่วพื้นผิวอันชื้นแฉะราวกับพรมกำมะหยี่สีเขียวสด ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงามหากเพียงคุณลองหยุดคุยหยุดพูดกับญาติสนิทมิตรสหายซึ่งเดินทางมาด้วยกันแล้วเงี่ยหูฟังสรรพสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆกาย คุณก็อาจจะได้ยินเสียงของเหล่าแมลงและเสียงของเหล่านกตัวน้อยร้องระงมแข่งกับเสียงซู่ซ่าของน้ำตกแก่งโสภาอยู่ไม่ไกล.....ณ สถานที่แห่งนี้.....ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ายังคงหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตจำนวนมากมายให้ดำรงอยู่ได้ด้วยความอาทร
          (แต่ร้านจำหน่ายอาหารเหล่านี้มักจะเปิดขายเฉพาะในช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ หรือช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่าง ๆเท่านั้น หากเป็นช่วงวันราชการตามปกติร้านจำหน่ายอาหารส่วนใหญ่จะปิดบริการ) หรือหากอยากจะพกพาข้าวกล่องมารับประทานเองก็ไม่มีใครว่า.....แต่.....อย่าลืม!!.....ช่วยกันรักษาความสะอาดเก็บกวาดขยะลงถังให้เรียบร้อยไม่ปล่อยเป็นภาระตกค้างกับสิ่งแวดล้อมด้วยนะ.....จะบอกให้
          แม้ว่าในความเป็นจริง “น้ำตกแก่งโสภา” จะมีความยิ่งใหญ่และความสวยงามด้อยกว่า “น้ำตกไนแองการ่า (Niagara Falls)” อยู่หลายขุมชนิดที่เรียกว่า “ยากจะนำมาเปรียบเทียบกันได้” แต่น้ำตกแห่งนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนยอดนิยมของ จ.พิษณุโลก ซึ่งมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยือนอยู่ไม่ขาดสาย หากคุณมีโอกาสเดินทางมาล่องแก่งลำน้ำเข็ก , มาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า หรือว่าใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนสายพิษณุโลก – หล่มสัก) ขับรถยนต์ส่วนบุคคลมุ่งหน้าจาก อ.วังทอง จ.พิษณุโลกไปพักผ่อนยัง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ล่ะก็ การจัดน้ำตกแก่งโสภารวมเข้าเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวตามโปรแกรมด้วย.....น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทีเดียว

การเดินทางสู่น้ำตกแก่งโสภา :
          รถยนต์ส่วนบุคคล จาก อ.เมือง จ.พิษณุโลก ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนสายพิษณุโลก – หล่มสัก) ขับรถมุ่งหน้าไปทาง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ประมาณ 71 – 72 กม. จะเห็นป้ายน้ำตกแก่งโสภาอยู่ทางด้านขวามือ สามารถขับรถยนต์เข้าไปในบริเวณลานจอดใกล้ ๆ กับตัวน้ำตกได้
          รถโดยสารประจำทาง – รถรับจ้าง ขึ้นรถประจำทางสายพิษณุโลก – เพชรบูรณ์ , สายพิษณุโลก – หล่มสัก หรือ สายพิษณุโลก – นครไทยไปลงด้านหน้าทางเข้าน้ำตกแก่งโสภาแล้วเดินต่อเข้าไปยังตัวน้ำตกอีกประมาณ 2 กม.

ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งปีแต่ช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม คือ กลางเดือน พ.ย. – ต้นเดือน ก.พ. (ช่วงฤดูฝนจะมีการกั้นทางเดินสู่จุดชมทิวทัศน์ด้านหน้าตัวน้ำตกแก่งโสภาไม่ให้นักท่องเที่ยวผ่าน ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถชมทิวทัศน์ได้จากด้านบนตัวน้ำตกเท่านั้น)

แผนที่


แหล่งที่มา : 1 , 2 , 3

น้ำตกแก่งซอง

11.11.59

          “น้ำตกแก่งซอง” เป็นหนึ่งในน้ำตกหลาย ๆ แห่งของ อ.วังทอง จ.พิษณุโลกซึ่งมีการวางตัวของแก่งหินขนาดใหญ่ขวางกลางทางไหลของลำน้ำเข็ก มีความกว้างโดยประมาณ 150 เมตร สูงราว ๆ 10 เมตร ตัวน้ำตกไหลผ่านแก่งและโขดหินน้อยใหญ่ซึ่งเรียงตัวสะเปะสะปะเกิดเป็นความสลับซับซ้อนที่สวยงาม
          ในช่วงฤดูหนาว – ฤดูร้อน สายน้ำของน้ำตกแก่งซองจะไหลเอื่อยเป็นสีเขียวค่อนข้างใสสามารถลงเล่นน้ำได้อย่างสนุกสนาน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการถ่ายภาพน้ำตกแก่งซองจากทางด้านหน้าจำเป็นต้องเดินลัดเลาะโขดหินริมตลิ่งลงไปทางปลายน้ำจึงจะสามารถเก็บภาพงาม ๆได้ (ทางสาธารณะที่สามารถเดินไปยังน้ำตกแก่งซองได้จะเป็นทางซึ่งอยู่ทางด้านบนของตัวน้ำตกไม่ใช่ทางซึ่งพาไปทางด้านหน้าของตัวน้ำตก กรณีที่ต้องการมองเห็นด้านหน้าของตัวน้ำตกแก่งซองจำเป็นต้องเดินลัดเลาะตามโขดหินริมตลิ่งลงไปทางปลายน้ำเท่านั้น) ส่วนในช่วงฤดูฝนน้ำตกแก่งซองจะมีระดับน้ำสูงขึ้นและมีกระแสน้ำที่ไหลแรงเป็นสีน้ำตาลขุ่นสภาพไม่เหมาะแก่การลงเล่น หากนักท่องเที่ยวต้องการถ่ายภาพน้ำตกแก่งซองจากทางด้านหน้าในช่วงฤดูฝนจะต้องอ้อมไปขออนุญาตผ่านพื้นที่ของรีสอร์ทเอกชนซึ่งตั้งอยู่บริเวณปลายน้ำเท่านั้น (รีสอร์ทแห่งนี้เป็นรีสอร์ทเล็ก ๆ ตั้งอยู่ริมลำน้ำเข็กชื่อ “บ้านเคียงน้ำ” ครับ)
          ถึงแม้ว่าในช่วงฤดูฝนนักท่องเที่ยวจะไม่สามารถลงเล่นน้ำบริเวณน้ำตกแก่งซองได้ แต่ร้านค้า – ร้านอาหารต่าง ๆ บริเวณรอบ ๆ ตัวน้ำตกแก่งซองก็ยังคงเปิดให้บริการอยู่เกือบทุกร้านเนื่องจากในช่วงฤดูนี้จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาร่วมกิจกรรม “ล่องแก่งลำน้ำเข็ก” ซึ่งจัดขึ้นประมาณเดือน มิ.ย. – ต.ค.เป็นประจำทุก ๆ ปี โดยผู้ประกอบการล่องแก่งบางส่วนจะพานักท่องเที่ยวกลับขึ้นฝั่งบริเวณริมตลิ่งก่อนถึงตัวน้ำตกแก่งซองเล็กน้อยทำให้ร้านค้า – ร้านอาหารในละแวกนั้นสามารถจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้เกือบตลอดช่วงฤดูฝนเลยทีเดียว หากอยากจะเปลี่ยนบรรยากาศจากการรับประทานอาหารหรู ๆในรีสอร์ทมารับประทานอาหารบ้าน ๆ ราคาประหยัดล่ะก็ลองแวะมาชิมอาหารตามสั่ง , ส้มตำ , ไก่ย่าง , ปลาเผา , ฯลฯ ที่น้ำตกแก่งซองดูสักนิดก็ไม่เสียหาย
          บริเวณใกล้ ๆ กับตัวน้ำตกแก่งซองมีสะพานแขวนข้ามลำน้ำเข็กซึ่งมีความยาวประมาณ 100 เมตร นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยนิยมมาถ่ายภาพบนสะพานเป็นที่ระลึก หากมองลงมาจากสะพานแขวนดังกล่าวนี้นักท่องเที่ยวจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของน้ำตกแก่งซองทางด้านบนได้เกือบตลอดแนวความกว้างของตัวน้ำตก กรณีที่นักท่องเที่ยวเดินข้ามสะพานแขวนข้ามลำน้ำเข็กไปยังอีกฟากหนึ่งจะได้พบกับชุมชนคนพื้นถิ่นเล็ก ๆ ซึ่งไม่ค่อยมีจุดน่าสนใจใด ๆ มากมายนัก สำหรับใครที่เบื่อ ๆ และอยากเอาเหงื่อออกจากรูขุมขนให้หายเซ็งทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) แนะนำว่าอาจหาเช่าจักรยานน้ำหรือเรือพายจากร้านริมตลิ่งใกล้ ๆ ตัวน้ำตกแก่งซองมาออกกำลังกายก็อาจช่วยให้คลายหายเบื่อไปได้บ้าง
          สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศอันงดงามของน้ำตกแก่งซองนั้น ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมขอแนะนำว่าควรจัดโปรแกรมแวะเที่ยวน้ำตกแก่งซองไว้รวมกับโปรแกรมท่องเที่ยวสถานที่อื่น ๆในเขต อ.วังทอง หรือ อ.นครไทย (เช่น ในช่วงฤดูฝนอาจจะเลือกล่องแก่งลำน้ำเข็ก + เที่ยวสวนรุกขชาติสกุโณทยาน + ชมความงามของน้ำตกแก่งซอง + น้ำตกแก่งโสภา + น้ำตกปอย + พักค้างแรมสวนป่าเขากระยาง ส่วนในช่วงฤดูหนาวอาจจะเลือกขึ้นภูหินร่องกล้า + เที่ยวสวนรุกขชาติสกุโณทยาน + ลงเล่นน้ำตกแก่งซอง + น้ำตกแก่งโสภา + น้ำตกปอย เป็นต้น) จะคุ้มค่ากว่าการเลือกเดินทางไกล ๆ มาท่องเที่ยวเฉพาะที่น้ำตกแก่งซองมาก.....ยังไงก็ลองจัดโปรแกรมตามความเหมาะสมกันดูนะครับ

การเดินทางสู่น้ำตกแก่งซอง :
          รถยนต์ส่วนบุคคล จาก อ.เมือง จ.พิษณุโลก ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนสายพิษณุโลก – หล่มสัก) ขับรถมุ่งหน้าไปทาง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ประมาณ 44 – 45 กม. จะเห็นป้ายน้ำตกแก่งซองอยู่ทางด้านขวามือ นักท่องเที่ยวต้องขับรถเข้าไปจอดในลานคอนกรีตเล็ก ๆ ด้านซ้ายมือตรงข้ามกับน้ำตก (สังเกตว่าจะมีร้านค้า - ร้านอาหารตั้งเพิงอยู่บริเวณลานจอดรถดังกล่าว) แล้วเดินข้ามสะพานลอยไปยังตัวน้ำตกต่อ
          รถโดยสารประจำทาง – รถรับจ้าง ขึ้นรถประจำทางสายพิษณุโลก – เพชรบูรณ์ , สายพิษณุโลก – หล่มสัก หรือ สายพิษณุโลก – นครไทยไปลงบริเวณลานจอดรถด้านข้างน้ำตกแก่งซองแล้วเดินต่อเข้าไปยังตัวน้ำตกอีกไม่เกิน 100 เมตร

ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม : สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งปีแต่ช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม คือ กลางเดือน พ.ย. – ต้นเดือน ก.พ. (ในช่วงฤดูหนาวสีของน้ำบริเวณน้ำตกแก่งซองจะกลายเป็นสีเขียวค่อนข้างใส ไหลไม่แรงมากเหมาะแก่การลงเล่นน้ำ)

แผนที่



แหล่งที่มา : 1 , 2

ลานหินแตก ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

11.11.59


ลานหินแตก
          อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นลานหินที่มีอาณาบริเวณ ประมาณ 40 ไร่ ลานหินมีรอยแตกเป็นแนว เป็น ร่อง เหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบ ขนาดพอคนก้าวข้ามได้ แต่บางรอยก็กว้างจนไม่่สามารถ จะกระโดดข้าม ไปถึง สำหรับความลึกของร่องหินแตกนั้นไม่สามารถจะคะเนได้ ลักษณะเช่นนี้ี้สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากการโก่งตัว หรือ เคลื่อนตัวของผิวโลก จึงทำให้พื้นหินนั้นแตกออกเป็นแนว นอกจากนี้บริเวณลานหินแตกยังปกคลุมไปด้วยมอสส์ ไลเคน ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ

แผนที่



แหล่งที่มา : 1 , 2 , 3

ลานหินปุ่ม ณ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

11.11.59

ลานหินปุ่ม
          ลานหินปุ่ม เป็นลานกว้างริมหน้าผา มีหินนูนขึ้นเป็นปุ่มไล่เลี่ยกันเป็นจำนวนมาก จากการศึกษาทางธรณีวิทยาสันนิษฐานว่าลานหินปุ่มเกิดขึ้นในลักษณะเช่นเดียวกันกับลานหินแตก เพียงแต่บริเวณลานหินปุ่มจะมีปุ่มหินนูนซึ่งมีขนาดเล็กและมีจำนวนมากกว่าบริเวณลานหินแตกเท่านั้น ในอดีต พคท.เคยใช้พื้นที่บริเวณลานหินปุ่มเป็นสถานที่พักฟื้นคนไข้เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีสายลมเย็นพัดผ่านอยู่เกือบตลอดเวลา

แผนที่



แหล่งที่มา : 1 , 2 , 3

ภูลมโล

11.11.59

          ภูลมโล ตั้งอยู่ในตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ภูลมโลเป็นภูเขาที่ตั้งอยู่บนรอยต่อ ของสามจังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย สิ่งที่ทำให้ภูลมโลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวในเวลานี้ คือ เป็นจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่มีพื้นที่กว้างขวางนับ 1000 ไร่ นางพญาเสือโคร่งของภูลมโลจะไม่ได้มีให้ชมเพียงจุดเดียว แต่จะกระจายมีให้ชมในหลายจุดโดยจะบานแทรกตัวอยู่ในหุบเขา ป่าไม้และต้นหญ้า ภูลมโลเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติ ที่สวยงามของขุนเขา และอากาศที่หนาวเย็นโดยนางพญาเสือโคร่งจะบานในช่วงเดือน ม.ค. ของทุกปี ทั้งนี้ในแต่ละปีจะบานไม่ตรงกัน ก่อนเดินทางต้องเช็คข้อมูลอีกครั้ง
          นอกจากชมนางพญาเสือโคร่งแล้ว พื้นที่ของภูลมโลมีสามารถยืนชมทัศนียภาพของเทือกเขาสูงซ้อนทับกันสวยงามมาก จุดกางเต้นท์ มองเห็นหมู่บ้านหมันขาว และไร่กระหล่ำปลีสีเขียวกว้างใหญ่ สามารถดูดาวบนฟ้า และดาวบนดินแสงไฟจากหมู่บ้านข้างล่างได้อย่าง ชัดเจนนอกจากนี้ก่อนถึงจุดกางเต้นท์มีจุดชมวิวสุงสุดให้ได้ชมทัศนียภาพได้กว้างไกลยิ่งขึ้น สำหรับบนยอดสูงสุดภูลมโลนั้นมีทางเดิน เขาขึ้นไปประมาณ 1 กม. ทางค่อนข้างชัน บนจุดชมวิวมีชะง่อนหินเล็กๆเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น ส่วนจุดชมพระอาทิตย์ตกอยู่บน เส้นทางเดินขึ้น ซึ่งเมื่อมองลงมาเบื้องล่างจะพบกับทิวทัศน์ความงดงามของแนวยอดภูลมโลและเทือกเขาอื่นๆ หรือหากใครไม่ขึ้นไป บนจุดชมวิวสูงสุด ก็สามารถชมวิวอยู่ตรงทางเดินขึ้นไปยังจุดชมวิวก็ได้ซึ่งก็สวยงดงามเช่นกัน

รายละเอียดท่องเที่ยวภูลมโล


          เส้นทางขึ้นภูลมโลเป็นเส้นทางเป็นดินแดงมีหลุมร่องเป็นระยะไม่ควรใช้รถเก๋งขึ้นไป ต้องใช้รถกระบะหรือรถขับเคลื่อน 4 เท่านั้น ควรเตรียมผ้ากันฝุ่นให้พร้อมเพราะฝุ่นเยอะ อากาศข้างบนภูลมโลหนาวมากและลมพัดแรงตลอดทั้งวัน ให้เตรียมอุปกรณ์กันหนาว และกันลมและฝุ่นไปให้พร้อม การขึ้นภูลมโลในเส้นทางที่ใกล้ที่สุด คือ ทางบ้านร่องกล้า จ.พิษณุโลก นักท่องเที่ยวสามารถเดินทาง ขึ้นภูลมโลแบบไปเช้าเย็นกลับ ขึ้นทางบ้านร่องกล้าเส้นทางจะใกล้และค่ารถถูกกว่าใช้เวลาเพียง 45 นาที สามารถติดต่อรถนำเที่ยวได้ที่ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านร่องกล้าด้านหน้าหมู่บ้านตรงหลักกิโลใหญ่ มีรถออกตลอดโดยเริ่มให้บริการตั้งแต่ตี 5 ไปจนถึงเย็น ราคา 800-1200 บาทต่อคัน โดยใช้เวลาท่องเที่ยวประมาณ 2-4 ชั่วโมง แล้วแต่ว่าจะถ่ายภาพแต่ละจุดนานขนาดไหน โปรแกรมการเดิน ทางคือ นำชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ยอดภูลมโล จากนั้นชมพญาเสือโคร่งยังแปลงต่างๆที่บาน ขากลับแวะทุ่งดอกกระดษ ตรงทางขึ้น ภูลมโล สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณเน้ง 089-959 5808, คุณป๋อ 087-838 0195
          หากใครที่ขึ้นทางฝั่งต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย ซึ่งจะไกลและเส้นทางค่อนข้างออฟโรดมากใช้เวลาประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง ราคาเช่ารถ จะอยู่ที่ 2000 บาท ขึ้นไป ให้ติดต่อเช่ารถไปยังชมรมการท่องเที่ยวกกสะทอน

ที่พักบนภูลมโล
          บนภูลมโลไม่อนุญาติให้ค้างคืน นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้พักบนภูลมโลอาจเลือกพักในบริเวณใกล้เคียงของทางขึ้นทั้งสองทาง เช่น ถ้าหากขึ้นทางฝั่งบ้านร่องกล้า อาจเลือกพักที่โฮมสเตย์ในหมู่บ้านร่องกล้าซึ่งมีหลายหลัง หรืออาจพักในบริเวณใกล้เคียง เช่น พักบ้านพักอุทยานแห่งชาติ ภูหินร่องกล้า หรือ ภูทับเบิก หากขึ้นทางฝั่งกกสะทอน อ.ด่านซ้าย ก็สามารถหาที่พักในอ. ภูเรือ หรือด่านซ้าย หรือที่พักโฮมเสตย์ของ ชมรมท่องเที่ยวกกสะทอน

การเดินทางไปภูลมโล

ฝั่งบ้านร่องกล้า
          - จากพิษณุโลก ใช้เส้นทางหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) จากนั้นเลี้ยวซ้ายที่สามแยกบ้านแยง เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2013 ไปอำเภอนครไทย ก่อนถึง อ.นครไทย ให้เลี้ยวขวาไปอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ระยะทางจนถึงที่ทำการอุทยานฯ 125 กิโลเมตร จากนั้นเดินทางต่อไปยังบ้านร่องกล้าที่อยู่ภายในอุทยานฯ อีก 9 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 134 กิโลเมตร
          - จากเพชรบูรณ์ ใช้เส้นทางหมายเลข 21 มุ่งหน้าอ.หล่มสัก จากนั้นเบี่ยงซ้ายเข้าถนนเลี่ยงเมืองก่อนถึงสี่แยกหล่มสักจะ เข้าสู่ทางหลวง หมายเลข 12 จากนั้นจะเจอสามแยกให้เลี้ยวขวาเข้าสู่หมายเลข 2372 ขับตรงไปจนเจอทางแยกซ้ายมือขึ้นภูทับเบิกเป็นทางหลวง 2331 เป็นทางลาดชันและทางโค้งหักศอก ราว 18 กิโลเมตร จนถึงด่านเก็บเงินค่าเข้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จากนั้นเดินทางต่อไป ยังบ้านร่องกล้า ที่อยู่ภายในอุทยานฯ อีก 21 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 96 กิโลเมตร

ฝั่งกกสะทอน
          จากจังหวัดเลยผ่านอำเภอภูเรือเข้าสู่ตำบลโคกนาม ไม่ต้องเข้าอำเภอด่านซ้ายเพราะจะอ้อมให้ใช้ถนนเส้นหล่มเก่า หล่มสัก ตรงอย่าง เดียวผ่านบ้านถึงโป่งชี และบ้านน้ำพุง เมื่อถึงบ้านน้ำพุงมีทางแยกขวาเขียนว่าวัดป่าพุทธประทับ เลี้ยวขวาตรงไปมีป้าย บอกทางขึ้นไป ภูลมโล สำหรับใครที่ใช้บริการรถนำเที่ยวของชมรมกกสะทอน ที่ทำการจะอยู่ก่อนถึงทางขึ้นภูลมโล มีป้ายบอก จากที่ทำการไปจนถึง จุดกางเต้นท์ภูลมโลใช้เวลาขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมง

แผนที่


แหล่งที่มา : 1 , 2