10 มกราคม 2560

ยินดีต้อนรับ

10.1.60
testsetsetsetse

ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อก Phitsanulok Travel Tips ที่จะพาท่านผู้อ่านที่มีความสนใจ วางแผนท่องเที่ยวในจังหวัดพิษณุโลก เราได้รวบรวมข้อมูลสถานที่ที่เป็นที่นิยมในจังหวัดให้ท่านผู้อ่านได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนที่จะมาเยี่ยมเยือนจังหวัดของเรา

21 พฤศจิกายน 2559

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน

21.11.59

โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก

          25 กุมภาพันธ์ 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนนเรศวร ที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทาน

          “...พิจารณาวางแผนโครงการและก่อสร้างเขื่อน เก็บกักน้ำแควน้อยโดยเร่งด่วนในเขตอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำแควน้อย และจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการชลประทานพิษณุโลก และโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ได้ผลอย่างสมบูรณ์ต่อไป ...”

          เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่างและ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้งสำหรับพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำแควน้อย พื้นที่ 155,166 ไร่ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำเสริมการเพาะปลูกในฤดูแล้งของพื้นที่โครงการเจ้าพระยา

ลักษณะของโครงการ

          การดำเนินการก่อสร้างตลอดระยะเวลา 9 ปี โครงสร้างหลัก ของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในปี 2554 ประกอบด้วยตัวเขื่อนหลัก 3 เขื่อนที่ ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ ได้แก่ เขื่อนปิดช่องเขาขาด ลักษณะเป็นเขื่อนดินสูง 16 เมตร ยาว 640 เมตร เขื่อนแควน้อย เป็นเขื่อนหินทิ้งดาดหน้าคอนกรีตสูงจากพื้น 75 เมตร ยาว 681 เมตร และเขื่อนสันตะเคียน ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนดินเหนียวสูง 80 เมตรยาว 1,270 เมตร สามารถกักเก็บสูงสุด 939 ล้านลูกบาศก์เมตร และฝายทดน้ำฝายพญาแมน ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ อยู่ด้านล่างเขื่อนแควน้อยประมาณ 40 กม. ทำหน้าที่ทดน้ำแควน้อย ส่งน้ำเข้าสู่ระบบคลองชลประทาน ให้กับพื้นที่การเกษตร 155,166 ไร่ ในพื้นที่ 25 ตำบล 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอวังทอง อำเภอพรหมพิราม

ผลสัมฤทธิ์ (ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ)
          

          ดำเนินการก่อสร้างตลอดระยะเวลา 9 ปี โครงสร้างหลักๆ ของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ประสบปัญหาอุทกภัย โดยเขื่อนแควน้อยฯได้ทำหน้าที่บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยเขื่อนแควน้อยฯ ได้รับน้ำจากลำน้ำแควน้อย และลำน้ำภาค จาก อ.นครไทยและ อ.ชาติตระการ ที่ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำท่าสูงสุดอยู่ที่ปีละ 1,691 ล้านลูกบาศก์เมตร ( ลบ.ม. ) แต่ปี 2554 ที่ผ่านมา มีน้ำเข้าเขื่อนแควน้อยถึง 2,909 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยได้กักเก็บน้ำสูงสุดในวันที่ 16 กันยายน 2554 ปริมาณน้ำขณะนั้น 959.91 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 102.2 % ของปริมาณกักเก็บสูงสุดที่กำหนดไว้ที่ 939 ล้านลบ.ม. และตลอดหนึ่งเดือนเต็มที่มีน้ำมาก ระหว่างกันยายน-ตุลาคม 2554 เขื่อน แควน้อยได้เก็บน้ำไว้ที่ 100 % ซึ่งหากไม่มีเขื่อนแควน้อยช่วยกักเก็บน้ำลุ่มน้ำแควน้อย ที่เป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน ในเขตเมืองพิษณุโลกอาจจะได้รับผลกระทบน้ำท่วมเขตเศรษฐกิจทั้งหมด เพราะช่วงเวลานั้นปริมาณน้ำแม่น้ำน่านมีสูงมาก ขึ้นสูงสุดมากกว่าน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2538 การบริหารจัดการน้ำต้องทำพร้อมกันเป็น รายชั่วโมง ระหว่างเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก และเขื่อนแควน้อยฯ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เฉพาะเดือนกันยายน 2554 เดือนเดียว เขื่อนแควน้อยช่วยชะลอน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำน่าน และจะไหลเข้าท่วมเขตเมืองพิษณุโลกไว้ถึง 899 ล้านลบ.ม.

แผนที่


แหล่งที่มา : 1

13 พฤศจิกายน 2559

อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

13.11.59


          อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตั้งอยู่บนรอยต่อของสามจังหวัด คือ อ.ด่านซ้าย จังหวัดเลย อ.นครไทย จังหวัดพิษณุโลก และ อ.หล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 191,875 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2527 เป็นพื้นที่ที่ มีธรรมชาติแปลก และสวยงาม ทั้งยังเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์เป็นยุทธภูมิ ที่สำคัญ อันเนื่องจากความขัดแย้งของลัทธิ และแนว ความคิดทางการเมือง อุทยานแห่งชาติ ภูหินร่องกล้าจึงเป็นอุทยานแห่งชาติเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่รักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ ของการสู้รบและความสวยงามทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ ลักษณะภูมิอากาศภูหินร่องกล้ามีลักษณะภูมิอากาศคล้าย ภูกระดึงและภูหลวง เนื่องจากมีความสูง ในระดับไล่เลี่ยกัน อากาศจะหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาว อุณหภูมิ จะต่ำประมาณ 4 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอากาศจะเย็นสบาย ฝนตกชุกในฤดูฝน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
          เนื่องจากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เป็นอุทยานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีสภาพธรรมชาติที่สวยงามแปลกตาผิดจาก อุทยานแห่งชาติโดยทั่วไป ดังนั้นจุดที่น่าสนใจต่างๆ จึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ด้านประวัติศาสตร์ ได้แก่ สถานที่ที่อดีตผู้ก่อการ ร้ายคอมมิวนิสต์ เคยใช้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ

ด้านประวัติศาสตร์
1.พิพิธภัณฑ์การสู้รบ
          (ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว) อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯ เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการสู้รบ มีภาพแผนภูมิข้อมูล อุปกรณ์การแพทย์ อาวุธ เอกสารเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาิภูหินร่องกล้า นอกจากนี้ ยังมีห้อง ประชุมจุได้ 80 คน ใช้ในการบรรยายสรุปหรือประชุมสัมนาและเป็นสถานที่ติดต่อขอข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวในเขตอุทยานฯ

2.โรงเรียนการเมืองการทหาร


          ตั้งอยู่บริเวณหลักกม.ที่ 4 ถูกปกคลุมด้วยป่ารกครึ้มหนาแน่นเมื่อปี2513 เป็นที่ตั้งของคณะกรรมการเขต 3 จังหวัด คือ จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลก ปี พ.ศ. 2520 ก่อตั้งเป็นโรงเรียนขึ้น ให้การศึกษาตามแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์ หากมาเที่ยวใน ช่วงเดือนมกราคมจะได้พบกับบรรยากาศของใบเมเบิ้ลเปลี่ยนสีและร่วงหล่นมาต้องบ้านไม้เก่าแก่งดงามคล้ายกับ ต่างประเทศ

3.กังหันน้ำ




          อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนการเมืองการทหาร เป็นกังหันน้ำขนาดใหญ่ ถูกสร้างขึ้นจากการผสมผสานความคิดก้าวหน้าทางวิชาการ กับการนำประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้งาน โดยนักศึกษาวิศวะที่เข้าร่วมกับ พคท. หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สำนักอำนาจรัฐ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานฯ ประมาณ 3 กม.เป็นสถานที่ดำเนินการด้านปกครอง มีการพิจารณาและลงโทษผู้กระทำผิด หรือละเมิดต่อกฎลัทธิ มีคุกสำหรับขังผู้กระทำความผิด มีสถานที่ทอผ้า และโรงซ่อมเครื่องจักรกลหลงเหลืออยู่

4.โรงพยาบาลรัฐ
          อยู่ห่างจากสำนักอำนาจรัฐไปทางทิศเหนือ ประมาณ 2 กม. เป็นโรงพยาบาลกลางป่าที่มีอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลเกือบครบ ถ้วน มีห้องปรุงยา ห้องพักฟื้น ห้องผ่าตัด โรงพยาบาลแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2519 สามารถทำการรักษาพยาบาลได้อย่างดี โดยเฉพาะการผ่าตัด สามารถผ่าตัดอวัยวะได้ทุกส่วน ยกเว้นหัวใจ มีหมอและพยาบาลจบจากหลักสูตรเร่งรัดจากประเทศจีนในปี พ.ศ. 2522 เพิ่มแผนกทำฟันและวิจัยยา และเครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่ได้จากในเมืองการรักษายังมีการฝังเข็ม และใช้สมุนไพร อยู่ด้วย

5.ลานเอนกประสงค์
          เป็นบริเวณลานหินที่กว้างใหญ่ อยู่ก่อนถึงสำนักอำนาจรัฐใช้เป็นที่พักผ่อน และสังสรรค์ในหมู่สมาชิกในโอกาสสำคัญต่างๆ

6.สุสาน ทปท
          เป็นสถานที่ฝังศพของนักรบทหารปลดแอกแห่งประเทศไทย (ทปท.) ที่เสียชีวิตจากการสู้รบกับทหารฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้ บริเวณลานเอนกประสงค์ ที่หลบภัยทางอากาศ เป็นสถานที่หลบภัยจากการทิ้งระเบิดทางอากาศจากทหารฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็น หลืบหินหรือโพรงถ้ำที่ซ่อนตัวในแนวต้นไม้ใหญ่ ทำให้ยากต่อการตรวจการณ์ทาง อากาศ มีอยู่หลายแห่ง แต่เปิดให้นักท่องเที่ยว เข้าชมได้ 2 แห่ง คือ บริเวณห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารราว 200 เมตร ลักษณะเป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ มีซอกหลืบสลับ ซับซ้อน จุคนได้ถึง 500 คน และอีกแห่งหนึ่งบริเวณทางเข้าสำนักอำนาจรัฐ เป็นหลืบขนาดใหญ่ สามารถจุคนได้ประมาณ 200 คน

7.หมู่บ้านมวลชน
          เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มมวลชน มีอยู่หลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านดาวแดง หมู่บ้านดาวชัย แต่ละหมู่บ้านมีบ้านประมาณ 40-50 หลัง เรียงรายอยู่ในป่ารกริมถนนที่ตัดมาจากอ.หล่มเก่า ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้หลังเล็กๆ ไม่ยกพื้น หลังคามุงด้วยไม้กระดานแผ่นบางๆ กันน้ำฝนได้อย่างดี และมีหลุมหลบภัยทางอากาศอยู่ด้วย

ด้านธรรมชาติที่สวยงาม
1.ลานหินแตก



          อยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นลานหินที่มีอาณาบริเวณ ประมาณ 40 ไร่ ลานหินมีรอยแตกเป็นแนว เป็น ร่อง เหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบ ขนาดพอคนก้าวข้ามได้ แต่บางรอยก็กว้างจนไม่่สามารถ จะกระโดดข้าม ไปถึง สำหรับความลึกของร่องหินแตกนั้นไม่สามารถจะคะเนได้ ลักษณะเช่นนี้ี้สันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากการโก่งตัว หรือ เคลื่อนตัวของผิวโลก จึงทำให้พื้นหินนั้นแตกออกเป็นแนว นอกจากนี้บริเวณลานหินแตกยังปกคลุมไปด้วยมอสส์ ไลเคน ตะไคร่ เฟิร์น และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ

2.ลานหินปุ่ม


          อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กม. อยู่ริมหน้าผา ลักษณะลานหินซึ่ง มีหินผุดขึ้นมาเป็นปุ่มเป็นปมขนาดไล่เลี่ยกัน คาดว่า เกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหิน ในอดีตบริเวณนี้ใช้เป็นที่พักฟื้นของคนไข้ของ โรงพยาบาล เนื่องจาก อยู่บนหน้าผา มีลมพัดเย็นสบาย

3.ผาชูธง




          อยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 500เมตร เป็นหน้าผาสูงชัน สามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้าง ไกลโดยเฉพาะภาพวิวพระอาทิตย์ตกดินจะ สวยงามไม่แพ้จุดชมวิวอื่น ๆ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ซึ่งผกค.จะขึ้นไปชูธงแดง (ฆ้อนเคียว) ทุกครั้งเมื่อรบชนะ

4.น้ำตกร่มเกล้า-ภราดร
          ห่างจากโรงเรียนการเมืองการทหารและกังหันน้ำประมาณ 600 เมตร มีทางแยกเดินลงน้ำตก ระยะทางประมาณ 400 เมตร จะถึง น้ำตกร่มเกล้าก่อน และเดินลงไปอีกประมาณ 200 เมตร จะเป็นน้ำตกภราดร ซึ่งมีลักษณะคล้ายน้ำตกร่มเกล้า เกิดจากลำธาร เดียวกันแต่มีความสูงน้อยกว่าและกระแสน้ำแรงกว่า

5.น้ำตกศรีพัชรินทร์
          ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่ทหารค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นทหารหน่วยแรกที่ขึ้นมาบนภูหินร่องกล้า น้ำตกศรีพัชรินทร์มี ความสูงประมาณ 20 เมตร มีลักษณะคล้าย น้ำตกเหวสุวัตที่เขาใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่าบริเวณน้ำตก มีแอ่งขนาดใหญ่เหมาะสำหรับ เล่นน้ำ

6.น้ำตกผาลาด
          ตั้งอยู่ทางด้านล่างของหน่วยพิทักษ์ห้วยน้ำไซ ทางเข้าจะผ่านหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง บ้านห้วยน้ำไซ ทางเข้าสู่เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า พลังน้ำ ของการพลังงานแห่งชาติจากทางแยกประมาณ 2 กม. จะถึงทางแยกซ้ายมือ เดินลงไปอีกประมาณ 50 เมตร ก็จะถึงตัวน้ำตก และลำน้ำสายใหญ่ แม้จะเป็นน้ำตกซึ่งไม่สูงนัก แต่มีน้ำมากตลอดปี ดังนั้นการพลังงานแห่งชาติ จึงสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ในบริเวณใกล้เคียง

7.น้ำตกตาดฟ้า
          เป็นน้ำตกที่มีความสูงมากแห่งหนึ่งในเขตอุทยานฯ ปัจจุบันยังไม่มีเส้นทางเข้าสู่ตัวน้ำตก ต้องเดินทางไปตามถนนลูกรังประมาณ 1 กม. จากนั้นจึงเดินตามทางเดินในป่าอีกประมาณ 300 เมตร ก็จะได้ยินเสียงน้ำตก เดินไปตามเสียงอีกไม่่นานก็จะถึงด้านบนของ น้ำตก และต้องไต่ลงไปตามทางเดินเล็ก ๆ จึงจะมองเห็นความสวยงามของน้ำตกตาดฟ้าหรือ เรียกชื่อพื้นเมืองว่า "น้ำตกด่าน-กอซาง" ซึ่ง หมายถึงด่านตรวจของผกค.ที่มีกอของไม้ไผ่ซาง

สิ่งอำนวยความในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
          ปัจจุบันมีบ้านพัก บริการจำนวน 9 หลัง พักได้หลังละ 5-7 คน ราคา 1,000-1,600 บาท/คืน เต็นท์ขนาด 20 คน ราคา1,000 บาท/คืน นอกจากนี้ ยังมีค่ายพัก ศูนย์บริการพักผ่อนท่องเที่ยว ร้านอาหาร และสถานที่ สำหรับกางเต็นท์ ไว้บริการ

สถานที่ติดต่อ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ตู้ ป.ณ. 3 อ.นครชัย จ.พิษณุโลก 65120 โทร. 0-5523-3527

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ 61 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-2579-7223, 0-2579-5734 หรือ 0-2561-4292-4 ต่อ 723,725


แผนที่

แหล่งที่มา : 1 , 2

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่)

13.11.59



ประวัติ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) จังหวัด พิษณุโลก

          หลายคนคงพอทราบแล้วว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) เป็นที่ ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย และมีคนนับถือมากมาย สำหรับ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) มีประวัติอันยาวนาน นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพราะดูจาก มีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ต่างๆ แต่ยังไมมีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่!! สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม 

          ส่วนในพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า ” ในราวพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อหล่อพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง ๓ หลัง” 
          มใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร ๔ ทิศ มีพระระเบียง ๒ ชั้น และมีรับสั่งให้ปั้นหุ่นต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2458 ปัจจุบันจึงมีชื่อเต็มว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร 

พระวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธชินราช



          พระวิหารพระพุทธชินราช เป็นวิหารทรงโรง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ซึ่งนับถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งในโลก ตัวพระวิหารสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และได้รับการบูรณะให้มีสภาพดีมาตลอดจนถึงสมัยปัจจุบัน พระวิหารหลังนี้จึงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงสุโขทัยที่มีความสง่างามสมส่วน และยังคงสภาพสมบูรณ์ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย 

บานประตูมุก 
          มีบานประตูประดับมุก 2 บานคู่ กว้าง 1 เมตร สูง 4.50 เมตร เป็นบานประตูประดับมุกโบราณที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง ตัวบานประตูมุกสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2299 สมัยพระเจ้าบรมโกศ และได้ทรงนำบานประตูไม้แกะสลักเดิมไปถวายเป็นบานประตูพระวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ ภายในวิหาร ประดิษฐาน พระพุทธชินราช หรือเรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธชินราช




          พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยตอนปลาย หน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก หล่อในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) ซึ่งได้สร้างพระพุทธชินราช พร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ฐานชุกชีปั๊มเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เดิมไม่ได้ลงรักปิดทอง ได้มีการปิดทองครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ คราวเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช เมื่อปี พ.ศ. 2146 
          พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปองค์ประธานของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิง มีลักษณะพิเศษเรียกว่าทีฆงคุลี คือที่ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่นิ้วยาวเสมอกัน ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักสร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกรแต่มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และมีลำตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลางซุ้ม มีเทพอสุราปกป้องพระองค์อยู่สองตน คือ ท้าวเวสสุวัณ และอารวกยักษ์ 
          ในตำนานการสร้างพระพุทธชินราชกล่าวว่า พระพุทธชินราชสร้างในสมัยพระศรีธรรมไตรปิฎก ธาตุของพระพุทธเจ้า คือ ผม ได้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา โดยใช้ช่างจากเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองหริภุญชัย ในการเททองปรากฏว่าหล่อได้สำเร็จเพียงสององค์ ส่วนพระพุทธชินราชทองแล่นไม่ตลอด ต้องทำพิมพ์หล่อใหม่ถึงสามครั้ง ครั้งสุดท้ายพระอินทร์ได้แปลงกายเป็นชีปะขาวมาช่วยเททองหล่อ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้นสองค่ำ เดือนหก ปีมะเส็ง จุลศักราช 717 จึงหล่อได้สำเร็จบริบูรณ์ 
          ปัจจุบันพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาได้ถูกอันเชิญไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ทางวัดจึงได้หล่อองค์จำลองขึ้นแทน 

พระเหลือ


          หลังจากสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือนำมารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดเล็ก หน้าตัก กว้าง 1 ศอกเศษ เรียกชื่อพระพุทธรูปนี้ว่า “พระเหลือ”เศษทองยังเหลืออยู่อีกจึงได้หล่อพระสาวกยืนอยู่ 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองในการหล่อพระพุทธรูป นำมารวมกันบนชุกชี (ฐานชุกชี) พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นลงบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นมา 1 หลัง อัญเชิญพระเหลือกับสาวกเข้าไปประดิษฐานอยู่ เรียกว่า พระเหลือ 

พระปรางค์


          องค์พระปรางค์ตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางของวัด เป็นพระปรางค์ประธาน และเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของวัด การก่อสร้างพระปรางค์ของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) ได้ทำตามคตินิยมของหัวเมืองราชธานี ของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยนั้น คือประสงค์ให้พระปรางค์เป็นหลักเป็นประธานของวัด และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รูปแบบของพระปรางค์เมื่อเริ่มสร้างสันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม โดยสร้างครอบพระสถูปเจดีย์ที่สร้างในรัชสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถม เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นไป ครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก ได้โปรดให้บูรณะพระปรางค์โดยดัดแปลงพระเจดีย์ ได้ให้เป็นรูปแบบพระปรางค์แบบขอมตามพระราชนิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยา

แผนที่



แหล่งที่มา : 1

11 พฤศจิกายน 2559

สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า

11.11.59

          “สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แม่หลวงของปวงชนชาวไทย โดยมีพระราชประสงค์จะอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าต้นน้ำ รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อีกด้วย
          สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ ตั้งอยู่ในเขต ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก มีเนื้อที่ 1,385 ไร่ โดยมีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาและหุบเขาลอนลาด มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 750-1,280 ม. มีสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส สภาพพื้นที่เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรมและไร่ร้างเกือบทั้งผืน อันเป็นผลมาจากการบุกรุกทำลายป่าในครั้งที่มีการสัมปทานป่าไม้
          นอกจากนั้น ในอดีตบริเวณพื้นที่ตั้งสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ ยังเคยเป็นสมรภูมิรบ โดยในการรบครั้งนั้นทหารไทยและลาวได้ต่อสู้กันอย่างดุเดือด จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการสู้รบในครั้งนั้น นั่นก็คือหลุมบังเกอร์ที่พบอยู่ในบริเวณพื้นที่ตั้งสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ ซึ่งการรบครั้งนั้นถูกเรียกว่า “สมรภูมิรบบ้านร่มเกล้า”
          ในปี 2542 สมรภูมิรบบ้านร่มเกล้าถูกพัฒนาให้กลายเป็น “สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ” โดยได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2542 ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในคราเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานของโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก
          ในการนี้ได้มีพระราชดำริให้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ ขึ้นในพื้นที่ส่วนปลายของเทือกเขาภูสอยดาว โดยพระองค์มีพระราชประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมความมั่นคงในประเทศ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าสมบูรณ์ไว้เพื่อเป็นแหล่งป่าต้นน้ำลำธาร ทั้งยังเป็นการสนับสนุนราษฎรหมู่บ้านร่มเกล้าและหมู่บ้านข้างเคียงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งได้พัฒนาสถานที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัดพิษณุโลก
          นอกจากจะเป็นการสนองงานพระราชเสาวนีย์ในองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว ที่สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ ยังเป็นแหล่งสำรวจและศึกษารวบรวมพรรณไม้พรมแดนไทย-ลาว ไม้ป่าดิบเขา อนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพนิเวศพรรณไม้ป่าดิบเขา ป่าผสมผลัดใบ สังคมพืชป่า ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาเรียนรู้ทางพฤกษศาสตร์ โดยจัดให้เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ เช่น กล้วยไม้ ไม้ดอกหอม เป็นต้น เป็นศูนย์อนุรักษ์และขยายพันธุ์พืช โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น ไม้หายาก ตลอดจนเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และการสันทนาการให้แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ผู้สนใจทั่วไป

          ปัจจุบันสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ มีการจัดแสดงพรรณไม้ประจำถิ่น ไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ มีโรงเรือนรวบรวมกล้วยไม้ไทย ที่รวบรวมสายพันธุ์กล้วยไม้ไทยที่หาชมได้ยากยิ่ง กว่า 300 ชนิด รวมถึงพรรณไม้ที่ค้นพบชนิดใหม่ของโลกคือ “สร้อยสยาม” ไม้ตระกูลชงโค หรือเสี้ยวของไทย เป็นพืชถิ่นเดียวหายากเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีมือจับ กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง หูใบรูปทรงกลมถึงรูปไข่กลับ ใบรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ห้อยลงยาวถึง 75 ซม. กลีบเลี้ยงรูปปากเปิด กลีบดอกมี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่กลับถึงรูปรี สีชมพูอมขาวถึงสีชมพู เกสรเพศผู้มี 3 อัน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมี 6 อัน ผลแบบฝัก รูปขอบขนาน เมล็ดรูปไข่ แบน สีน้ำตาลเข้ม พบในป่าเบญจพรรณผสมป่าไผ่ บริเวณภูเมี่ยง จ.พิษณุโลก ออกดอกตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป
          ยังมีไม้ประจำถิ่นอีกหลายชนิด อาทิ “ค้อ” พืชวงศ์ปาล์ม ที่ถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และเป็นพรรณไม้แห่งวัฒนธรรมของผู้คนบนภูเขาสูง เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน รับแรงต้านของลมได้ดี มีอายุยืนยาวนับร้อยปี นอกจากนี้ยังมี “ระฆังทอง” พันธุ์ไม้ตระกูลปีบ ที่อวดความงามตลอดทั้งปี กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดคล้ายระฆัง มีสีเหลืองทองตัดกับดอกสีแดงเข้มจัด เป็นพืชหายากพบเฉพาะบนภูเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็น กระจายพันธุ์อยู่ในจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์
          ในอนาคตสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ จะเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้วงศ์จำปีจำปา กุหลาบพันปี และกล้วยไม้ไทย นอกจากนั้นยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่สมบูรณ์ไปด้วยแมกไม้นานาชนิด รวมไปถึงกิจกรรมพานักท่องเที่ยวนั่งรถอีแต๊กเพื่อศึกษาธรรมชาติ และเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าม้ง สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ มีสถานที่กางเต็นท์ไว้รองรับให้แก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาสัมผัสธรรมชาติและชมทัศนียภาพของทิวเขา มีจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม โดยสามารถรับรองนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 200 คน)
          นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเยี่ยมชมสวนฯ ได้ทั้ง 3 ฤดู ฤดูหนาว ก็จะได้สัมผัสกับอากาศอันหนาวเย็น พร้อมชมความงามของกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีกล้วยไม้หายากที่มีลักษณะดอกคล้ายกับรองเท้าของผู้หญิง และสร้อยสยาม พันธุ์ไม้หายากพบเฉพาะจังหวัดพิษณุโลก ฤดูฝน สามารถชมหมอกฝนได้ ณ จุดชมวิวค้อเดียวดาย เป็นจุดชมวิวไฮไลต์ของที่นี่ โดยจุดชมวิวจะเห็นทะเลหมอกในยามเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางทิวทัศน์ของ 2 ประเทศ 3 จังหวัด อันเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศไทยและลาว พร้อมชมยอดดอยภูสอยดาวที่มีเขตเชื่อมต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และเลย ส่วนฤดูร้อน จะพบกับกล้วยไม้สายพันธุ์ต่างๆ ที่ออกดอกบานสะพรั่ง รวมไปถึงพันธุ์ไม้วงศ์จำปีจำปา ที่ส่งกลิ่นหอมรัญจวนไปทั่วทั้งป่ายามค่ำคืน
          อีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดก็คือ การชมหิ่งห้อยยามค่ำคืน โดยเฉพาะหิ่งห้อยน้ำที่สามารถชมได้ในบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติภายในสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงที่อยู่ในเส้นทางผ่าน สามารถแวะพักผ่อนได้ อาทิ น้ำตกชาติตระการ สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงภูขัดฯ สถานีทดลองพืชสวนร่มเกล้า ศูนย์ศิลปาชีพ ภูขัดฯ น้ำตกภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย เป็นต้น
          เรียกได้ว่าสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้าฯ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อการเรียนรู้และพักผ่อน ท่ามกลางขุนเขาเมฆไม้และสายหมอก มีความหลากหลายของระบบนิเวศป่าและพรรณพืช ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใดก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้นานาพรรณ เปรียบดั่งห้องสมุดทางธรรมชาติที่ให้บริการความรู้ทางวิชาการด้านพืชและธรรมชาติวิทยา

แผนที่ 

แหล่งที่มา : 1 , 2

อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ

11.11.59

          "อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ" หรือน้ำตกปากรอง อยู่ใน ต.ชาติตระการ อ.ชาติตระการจังหวัดพิษณุโลก อ.ชาติตระการนั้นเป็นอำเภอเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยความสงบ ไม่วุ่นวาย มีที่พักขนาดเล็กและขนาดกลางอยู่บริเวณทางผ่านจาก อ.ชาติตระการเข้าสู่อุทยานฯ ให้นักท่องเที่ยวพักผ่อน ก่อนเข้าชมอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการที่ห่างออกไปไม่ไกล
          เมื่อมาถึงน้ำตกชาติตระการทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมของเราก็เตรียมอุปกรณ์ติดตัวสำหรับเดินชมธรรมชาติสำคัญมากคือน้ำดื่ม กับขนมขบเคี้ยวที่ให้พลังงาน ทีมงานของเราออกเดินทางไปตามเส้นทางพิชิตน้ำตก 7 ชั้น ตั้งแต่เช้าตรู่ (เช้ามากประมาณเกือบแปดโมงครึ่ง 555) ได้เล็กน้อย ทีมงานของเราก็ได้รับการชักชวนจากพี่พี่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้มาร่วมกันปลูกต้นไม้เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ (นับว่าเป็นเกียรติอย่างสูง และปลื้มมากเกิดมาไม่เคยปลูกต้นไม้ในอุทยานมาก่อนเลย แต่จำชื่อต้นไม้ไม่ได้แล้วค่ะ เพราะไม่ได้นำปากกาไปถือไปแต่เสบียง) หากท่านใดได้มีโอกาสไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ เมื่อเดินไปตามทางสู่เส้นทางพิชิตน้ำตก ศึกษาธรรมชาติในช่วงต้น ๆ ทาง เห็นต้นไม้สองต้นคนละสายพันธุ์ยืนอยู่ (ตอนนี้คงยังไม่โตมาก) ก็อย่าลืมแวะไปทักทายเป็นกำลังใจให้มันโตเป็นไม้ใหญ่คู่อุทยานฯ ต่อไป
          จากนั้นเราก็เข้าสู่เส้นทางพิชิตน้ำตกชาติตระการที่มีทั้งสิ้นทั้งหมด 7 ชั้น แต่ละชั้นก็มีชื่อเสียงไพเราะ ตามนามพระธิดาทั้ง 7 พระองค์ของท้าวสามล ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “สังข์ทอง” เราก็เดินสูดอากาศบริสุทธิ์ อัดให้เต็มปอด ได้สักหน่อยก็มาถึง


          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 1 “มะลิวัลย์” น้ำตกชั้นนี้ น้ำตกจะไหลลงมาจากซอกผาลงสู่แอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถลงเล่นน้ำได้ น้ำที่ไหลตกลงมาเป็นสายอย่างต่อเนื่องโดยมีช่องผาเป็นพื้นหลังของภาพอันสวยงามจนทางอุทยานฯ ต้องจัดทำเป็นพื้นที่ยื่นออกไปสำหรับเป็นจุดชมวิวที่นักท่องเที่ยวนิยมเก็บภาพอีกจุดหนึ่ง บริเวณโพรงถ้ำถัดจากจุดชมทัศนียภาพภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย กราบสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับการเดินทาง
          จากนั้นทีมงานของเราจึงเดินทางต่อ ระหว่างทางทุกท่านก็อย่างพลาดที่จะชมธรรมชาติทั้งพืชพรรณไม้ หรือจะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์น้อยทั้งบนดิน และบนต้นไม้ สู่เส้นทางขึ้นเนินมุ่งสู่น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 2 ระยะทาง 400 เมตร

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 2 “กรรณิการ์” กว่าจะมาถึงน้ำตกชั้นนี้ทำเอาทีมงานของเราเริ่มจะเหนื่อยไปตาม ๆ กัน ที่น้ำตกชาติตระการชั้น 2 นี้เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลลงมาเรื่อย ๆ ผ่านชั้นเล็ก ๆ ประมาณ 3-4 ชั้นจนมาสู่ด้านล่างของน้ำตก

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 3 “การะเกด” ถ้าทีมงานเรานับชั้นของน้ำตกไม่ผิด น้ำตกชาติตระการชั้นที่สามห่างจากชั้นสองไปประมาณ 250 เมตร สามารถมองเห็นได้เมื่อยื่นอยู่ด้านล่างน้ำตกชั้นที่สอง น้ำตกชาติตระการชั้นนี้เป็นเพียงน้ำตกเล็ก ๆ ไหลมาตามร่องผาเท่านั้น

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 4 “ยี่สุ่นเทศ” ถัดจากน้ำตกชาติตระการชั้นที่สามมาไม่ไกลประมาณ 110 เมตร เป็นน้ำตกที่ติดลำดับต้นของชั้นน้ำตกที่สวยที่สุดในอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ ชั้นนี้น้ำตกจะไหลจากแผ่นหินกว้างเป็นม่านน้ำ (ถ้าฤดูน้ำหลากความสวยจะยิ่งเพิ่มขึ้น) บริเวณชั้นนี้มีเส้นทางแยกต่อไปยังผาแดงและเขากระดานเลข (เนื่องจากสภาพอากาศไม่ค่อยน่าไว้วางใจทางทีมงานจึงไม่ได้ไปเส้นผาแดงและเขากระดานเลข แต่มุ่งตรงไปเก็บภาพน้ำตกให้ครบทุกชั้นแทน)

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 5 “เกศเมือง” ลักษณะของน้ำตกชาติตระการชั้นที่ห้า ตามความคิดเห็นของผู้เขียน ลักษณะน้ำตกจะคล้าย ๆ กับน้ำตกชาติตระการชั้นที่สองที่มีการไหลลดหลั่นมาตามชั้นย่อย ๆ แต่ขนาดน้ำตกจะดูเล็กกว่า

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 6 “เรืองยศ” เป็นน้ำตกที่ดูกระฉับกระเฉงกว่าน้ำตกชาติตระการชั้นอื่น ๆ น้ำที่ไหลลงมาจากแหล่งต้นน้ำไหลมาตีโค้งเหมือนกันเล่นสไลเดอร์ดูสวยงามไปอีกแบบ

          น้ำตกชาติตระการชั้นที่ 7 “รจนา” สมกับเป็นน้องนุชชั้นสุดท้ายในบรรดาน้ำตกชาติตระการชั้นต่าง ๆ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น แต่การมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการนอกจากความสวยงามของน้ำตกทุกชั้นที่ต่างกันแล้ว ระหว่างเส้นทางสู่น้ำตกชั้นต่าง ๆ ก็เป็นธรรมชาติที่ควรให้ความสนใจทั้งพืชพันธุ์ต่าง ๆ สัตว์น้อยใหญ่ เช่น นก ผีเสื้อสวย ๆ งามทำให้การเดินทางระยะทางอันยาวไกลเกือบกิโลครึ่ง ไม่น่าเบื่อ แต่น่าศึกษาเรียนรู้

การเดินทาง
          รถยนต์ส่วนตัว จาก อ.เมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) เลี้ยวซ้ายตรงสามแยกบ้านแยงเข้าทางหลวงหมายเลข 2013 ผ่าน อ.นครไทย เมื่อถึงสามแยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1143 แล้วตรงไป ก่อนถึง อ.ชาติตระการ 1 กม. พบสามแยกให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 3127 อีก 7 กม.พบป้ายทางเข้าอุทยานฯ ให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 2 กม.ถึงบริเวณลานจอดรถ รวมระยะทางประมาณ 145 กม.
          รถประจำทาง ขึ้นรถสายพิษณุโลก-ชาติตระการ ลงที่ตลาดชาติตระการ แล้วต่อรถสองแถวสายชาติตระการ-บ้านร่มเกล้า หรือเหมารถจากตลาดชาติตระการไปยังอุทยานฯ

แผนที่


แหล่งที่มา : 1 , 2 , 3

น้ำตกไผ่สีทอง

11.11.59

น้ำตกไผ่สีทอง ที่เที่ยวแห่งใหม่ของจ.พิษณุโลก
          พิษณุโลก คือจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่างของไทย พิษณุโลก ถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและน่าไปเยือนมากมายหลายแห่ง ล่าสุด! จ.พิษณุโลกได้เปิดตัว น้ำตกไผ่สีทอง แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ของจ.พิษณุโลก
          น้ำตกไผ่สีทอง ตั้งอยู่ที่บ้านตอเรือ ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก และเป็นน้ำตกที่ถูกค้นพบโดยชาวบ้านในพื้นที่ โดยน้ำตกมีจำนวน 9 ชั้น แต่ละชั้นก็ล้วนแต่มีความสวยงามและลดหลั่นกันไป แต่ที่งดงามมากคือ ชั้นที่ 5 และ ชั้น ที่ 9 ซึ่งเป็นโขดหินสูงกว่า 15 เมตร รอบๆน้ำตกยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นอย่างมาก

          นอกจากนี้แล้วนักท่องเที่ยวยังสามารถเดินเที่ยวชม น้ำตกทั้ง 9 ชั้น ในระยะทาง 1.5 กม. ซึ่งสามารถเดินชมได้อย่างปลอดภัย และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงยังพบว่ามีรอยพระพุทธบาทกว่า 10 จุด มีหินเทิน หินซ้อนเป็นชั้นๆลักษณะ สวยงามมากด้วยเช่นกัน
          สำหรับการเดนิทางไปท่องเที่ยวน้ำตกไผ่สีทองนั้น นักท่องเที่ยวสามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 12 สายพิษณุโลก – หล่มสัก เมื่อถึงโรงเรียยบ้านแก่งจูงนาง ประมาณกม.ที่ 32-33 เลี้ยวขวาเข้าไปยังเส้นทางถนนบ้านแก่งจูงนาง – บ้านรักไทย อำเภอเนินมะปราง จ.พิษณุโลกอีก ประมาณ 15 กม.
          วันที่ 21 ต.ค.57 ทางจังหวัดจะทำการเปิดตัวเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติผสมผสานกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เนื่องจากบริเวณนั้นจะมีสวนเกษตรพืชผักผลไม้ หลากหลายชนิด จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก ในอนาคตจะได้จัดให้มีการท่องเที่ยวแบบ โฮมสเตย์ ในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย
          พร้อมกันนี้ทางจังหวัดจะได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างทำฝายชะลอน้ำเพื่อกักเก็บน้ำให้สามารถไหลได้ตลอดปีอีกด้วย

แผนที่

แหล่งที่มา : 1 , 2